วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คุณค่าของการอ่านบทความ แล้วย้อนมามองตนเอง

.....ครูช่อแก้ว  วงษ์ตั้นหิ้น
.......ครูโรงเรียนวัดอภยาราม

สมองของเด็กถูกธรรมชาติโปรแกรมมา เพื่อให้ได้เล่น...เด็กๆจึงสนุกกับการที่ได้เล่นและในขณะที่พวกเขาได้เล่น สมองของพวกเขาก็จะเกิดการเรียนรู้ตามไปด้วย...แต่ในการศึกษาในประเทศเรากลับเป็นการยัดเยียดความรู้ให้เด็กๆเด็กๆได้เรียนเต็มเวลา...คาบเช้าเรียนเต็ม  บ่ายเรียนเต็ม...เวลาเล่นของพวกเขาไปอยู่ไหนเมื่อสมองของพวกเขาไม่ได้รับการพักผ่อนหรือ ผ่อนคลายจากที่ควรจะเป็นไปตามธรรมชาติแล้ว...สมองจึงเกิดความรู้สึกเครียดจากการถูกยัดการเรียนรู้ ทำให้กล้ามเนื้อสมองล้า และเหนื่อยความรู้สึกต่อต้านจากการเรียนรู้จึงตามมา ชีวิตวัยเด็กจากการที่ควรได้รับแต่เรื่องสนุกสนานกลับถูกยัดเยียดวิชาการสาระมากมาย การศึกษาไทยในหลายๆชั่วโมงที่เราได้สูญเสียไปจึงไร้ประโยชน์เพราะสมองของเด็กๆไม่ได้รับ จะเป็นไปได้ไหมถ้าเราออกแบบการเรียนรู้ของเด็กๆโดยการที่ได้เรียนไปเล่นไป ให้เกิดความสนุกสนาน เกิดความสุขกับการเรียนและควรจะเป็นไปได้ไหม หากเราลดคาบวิชาการลง และให้เด็กๆได้ทำกิจกรรมที่พวกเขาชอบและถนัด (บทความจากครูนอกกรอบ เมื่อวันที่ 13 เมษายน ๒๕๕๙)
เมื่อได้อ่านบทความนี้ จึงได้เกิดแนวคิดในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ และมีคำถามกับตัวเองว่าเรากำลังเป็นครูที่เผลอสอนแบบยัดเยียดความรู้ให้กับนักเรียนบ้างแล้วหรือไม่ เมื่อคิดทบทวนดูแล้ว ก็น่าจะมีบ้าง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน เลยไปขอความร่วมมือครูท่านอื่นให้ลองถามนักเรียน เช่น “ตอนเรียนคณิตศาสตร์หนูเครียดมั้ย” “มีภาระงานหรือการบ้านเยอะมั้ย”
“คุณครูดุหรือเปล่า” “ถ้าหนูเรียนไม่เข้าใจหนูกล้าถามครูมั้ย”
คำถามเหล่านี้ จะต้องให้ครูคนอื่นถาม และต้องเป็นคนที่นักเรียนรู้สึกไว้วางใจ แล้วจะได้คำตอบที่สามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาตนเอง จากเดิมที่สั่งการบ้านครั้งละเยอะๆ สอนอย่างรีบเร่งเพื่อให้จบเนื้อหาเร็วๆ จะได้รีบติวข้อสอบ ผลคือนักเรียนรู้สึกเหนื่อยล้า ท้อแท้ เบื่อหน่าย ครูเผลอทำร้ายเด็กๆโดยไม่รู้ตัว ถึงแม้จะเป็นความหวังดี แต่ถ้าเด็กนักเรียนรู้สึกว่าเป็นภาระที่น่าเบื่อหน่าย ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นกับเด็กน้อยอย่างน่าสงสาร แค่ปรับเปลี่ยนท่าทีในการสอน เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น นักเรียนจะกล้าตอบคำถามโดยไม่กลัวว่าครูจะดุเมื่อเขาตอบผิด
ให้กำลังใจ เสริมแรงให้นักเรียนมีความมุ่งมั่น ทำกิจกรรมที่นักเรียนรู้สึกผ่อนคลาย ชวนนักเรียนพูดคุย เล่าสู่กันฟังอย่างเป็นกันเอง  ความสุขของนักเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการเรียนรู้
เมื่อนักเรียนมีความสุข ครูจะเสริมสร้างวิชาการ หรือ บ่มเพาะคุณธรรม ก็ย่อมทำได้ เพราะเมื่อใจเป็นสุข คือใจที่มีคุณภาพ ย่อมน้อมรับสิ่งดีๆได้อย่างยั่งยืน

2 ความคิดเห็น:

ข่าวการศึกษา