วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

10 วิธีช่วยให้ลูกเก่งคณิตศาสตร์

โดย..นางวรรณี  เพ็งประไพ
ครูโรงเรียนวัดอภยาราม

             คณิตศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับการเรียน เด็ก ๆ ต้องมีคะแนนคณิตศาสตร์สูงในระดับหนึ่งจึงจะสามารถสอบเข้าเรียนในระดับมัธยม หรือเลือกสาขาวิชาที่ต้องการได้ โดยเฉพาะการสอบเข้ามหาวิทยาลัย อีกทั้งอาชีพที่ทำเงินมากมายหลายอาชีพบุคคลเหล่านั้นต้องมีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่ดี วันนี้ผู้เขียนขอเขียนเรื่องวิธีการช่วยให้ลูกเก่งคณิตศาสตร์ ดังต่อไปนี้
           1. ต้องแน่ใจว่า ลูกเข้าใจความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ การใช้วิธีการท่องจำเพียงใช้ไม่ได้ผลกับการเรียนคณิตศาสตร์ ดังนั้นต้องพยายามให้ลูกเข้าใจโจทย์พื้นฐานง่าย ๆ ตัวอย่างเช่น โดยใช้วิธีเพิ่มจำนวนไม้บล็อกในกองให้ลูกนับและถามว่าตอนนี้มีไม้บล็อกในกองเท่าไหร่ เป็นต้น
          2. ช่วยลูกให้เข้าใจความจริงพื้นฐาน ความจริงพื้นฐาน เช่น 3-2 = 1 , 1+1 = 2 เป็นต้น เด็ก ๆ สามารถตอบได้ในช่วงเวลาอันสั้น ๆ โดยใช้กระดานตัวเลขเข้าช่วย ชูภาพให้เด็ก ๆ ดู และให้เด็กตอบอย่างรวดเร็ว หากลูกไม่สามารถหาคำตอบได้ให้ใช้อุปกรณ์ของจริงช่วยในการนับ
         3. สอนลูกให้เขียนตัวเลขอย่างบรรจง 25% ของการทำโจทย์คณิตศาสตร์ผิด คือ การเขียนตัวเลขผิด ดังนั้น ต้องหัดให้ลูกเขียนตัวเลขบรรจง เขียนหลักของตัวเลขให้ตรงกัน โดยซื้อสมุดที่มีเส้นช่องบรรทัดเป็นตารางกราฟให้ลูก เพื่อให้ลูกเขียนตัวเลขง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้มีข้อผิดพลาดน้อยลง
         4. ให้ความช่วยเหลือทันทีเมื่อลูกต้องการความช่วยเหลือ คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ต้องอยู่บนความเข้าใจของพื้นฐานที่เรียนมาแล้ว ยกตัวอย่าง เช่น หากไม่มีความเข้าใจเรื่องเปอร์เซ็นต์ ก็จะทำผิดพลาดเรื่องจุดทศนิยมด้วย หากคุณครูไม่มีเวลาพอในการช่วยเหลือเด็ก คุณพ่อคุณแม่อาจต้องมีติวเตอร์พิเศษให้ลูกเรียนเสริมอีกครั้ง
          5. สอนลูกถึงวิธีการทำการบ้าน หลังจากได้รับการเรียนรู้ทักษะทางคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนแล้ว สอนลูกถึงวิธีการทำการบ้านจากการศึกษาการแบบฝึกหัดและอ่านตัวอย่างวิธีทำในหนังสือ ให้ลูกลองทำจากตัวอย่างก่อนแล้วจึงเริ่มลงมือทำแบบฝึกหัด
          6. เสริมแรงลูก ให้ลูกทำมากกว่าการบ้านที่ครูให้ การฝึกให้ลูกทำบ่อย ๆ เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับคณิตศาสตร์ หากคุณครูให้ทำโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์เป็นการบ้าน คุณพ่อคุณแม่ลองให้ลูกทำข้อคณิตศาสตร์แปลก ๆ มากกว่าการบ้านที่คุณครูให้ทำบ้าง เพื่อเพิ่มพูนทักษะทางคณิตศาสตร์ให้มากขึ้น หากลูกใช้เวลาในการฝึกฝนทางคณิตศาสตร์มากเท่าไหร่ เด็กจะยิ่งมีความเชื่อมั่นและมีทักษะทางคณิตศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย
           7. อธิบายถึงการแก้โจทย์ปัญหา คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ต้องเข้าใจโจทย์ปัญหา ให้ลูกอ่านโจทย์หลาย ๆ ครั้ง และทำความเข้าใจ อาจให้ลูกวาดภาพพร้อมแผนผังประกอบด้วย อีกทั้งทำโจทย์ให้ง่ายขึ้นโดยการเปลี่ยนโจทย์ปัญหาเป็นตัวเลขที่ง่ายขึ้น เมื่อเด็กตีโจทย์ได้ก็สามารถหาคำตอบที่ถูกต้องได้
         8. ช่วยลูกให้เข้าใจคำศัพท์ทางคณิตศาสตร์ หากเด็ก ๆ เข้าใจโจทย์อย่างไม่ถ่องแท้ ไม่เข้าใจศัพท์ทางคณิตศาสตร์ บวก ลบ มากกว่า น้อยกว่า คงเดิม เหลือ เป็นต้น จะทำให้เด็กแก้โจทย์ปัญหาไม่ได้ วิธีการช่วยวิธีหนึ่งคือ ให้แก้โจทย์โดยใช้ตัวเลขง่าย ๆ แทนตัวเลขยากๆกับลูก
          9. ทำให้คณิตศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน หากเด็กตระหนักถึงความสำคัญทางคณิตศาสตร์จะช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายมากขึ้น เช่น ให้เด็กวัดความความยาวของกระถางต้นไม้ต้นหนึ่งไปสู่อีกต้นหนึ่ง หรือให้ช่วยไปจ่ายค่าอาหาร เป็นต้น
          10. เล่นเกมกับลูก โดยให้ลูกนับต้นไม้ที่ผ่านมา เสาไฟฟ้า หรือบวกเลขจากทะเบียนรถ ทำให้ลูกสนุก เพื่อลูกจะรู้สึกว่าคณิตศาสตร์ไม่เป็นการเรียนแต่เป็นการเล่นเกมที่สนุก
คณิตศาสตร์อยู่รอบ ๆ ตัวเรา เลขฐาน 5 และ 10 พื้นฐานความเข้าใจทางคณิตศาสตร์จะช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิตอนาคตได้ อย่าให้ลูกเรียนเลขโดยการท่องจำ แต่ให้ลูกเรียนด้วยความเข้าใจและสนุกกับมัน เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ

ขอบคุณ    ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ   ที่มาจาก MGR Online 19 มิถุนายน 2559

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ทำอย่างไรให้นักเรียน กล้าคิด กล้าแสดงออก

 ..... เพลงพิณ  จำปาทอง 
ครู โรงเรียนวัดอภยาราม....

กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ รวมกันแล้ว เป็นการกล้าแสดงออก  ครูผู้มีหน้าที่นอกจากจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนแล้ว  ครูจะต้องอบรมบ่มนิสัยนักเรียนให้อยู่ได้ในสังคมนี้อย่างมีความสุข  ตามเจตนารมณ์ของหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นคนดี  คนเก่ง  และมีความสุข  ทั้งนี้นักเรียนควรมีคุณลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์หลายประการ  หนึ่งในจำนวนนั้นคือ  นักเรียนควรมีความกล้าในการแสดงออก
การแสดงออก  หมายถึง  นักเรียนมีความกล้าคิด  กล้าพูดและกล้าทำ  ซึ่ง กล้าคิด  คือ  การคิดในสิ่งที่ดีงาม  คิดสร้างสรรค์  คิดในทางบวกและเป็นประโยชน์  กล้าพูด  คือ  การพูดในสิ่งที่ดี  พูดสร้างสรรค์  พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์  และกล้าทำ  คือ  การมีความประพฤติดี  มีวินัย  ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์  ดังนั้นกล้าคิด  กล้าพูด  กล้าทำ  รวมกันแล้วจึงเป็นการกล้าแสดงออกของนักเรียน 

แต่ในปัจจุบัน  นักเรียนส่วนใหญ่  กล้าในสิ่งที่ไม่ควรกล้า  จะคิดว่าเป็นความกล้านั้น  ก็ไม่ใช่  คงเป็นการก้าวร้าวมากกว่า  เพราะในความกล้านั้น  ควรเป็นความกล้าในสิ่งที่ดีงาม ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว  แต่นักเรียนมักก้าวร้าว  ไม่มีการให้อภัย  หนักนิดเบาหน่อยก็ไม่ยอมลดราวาศอก  ต้องมีการแก้แค้น  ดังที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เนืองๆ ดังนั้นผู้ที่เป็นครู  ผู้ปกครอง  ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด  ต้องสอนให้เด็ก  รู้จักการคิด  การพูด  การทำ  ในขอบเขตที่ดีงาม  เมื่อเห็นการเกินเลยกว่าขอบเขตที่ดีงามนั้น  ควรมีการบอกสอน  ไม่ควรละเลยไป  พ่อแม่ผู้ปกครองบางครอบครัวนั้น  ไม่มีเวลาที่จะอบรมบ่มนิสัยที่บ้าน  ปล่อยให้เป็นหน้าที่และภาระของครูที่โรงเรียน   จึงเป็นวิธีคิดที่ไม่ถูกต้อง  ควรต้องมีการร่วมมือกันทั้งครูและผู้ปกครองตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง  จึงจะเกิดผลดีกับนักเรียน ให้เป็นสมาชิกที่ดีมีคุณภาพต่อประเทศชาติต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การทดลองทางวิทยาศาสตร์มีความสำคัญอย่างไร?

นางสุพรรษา  ย้อยรักษ์
บุคลากรวิทยาศาสตร์โรงเรียนวัดอภยาราม
การทดลองทางวิทยาศาสตร์ เป็นกิจกรรมที่ตอบสนองต่อธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก เนื่องจากมีการปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง การมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และจากการได้ใช้ประสาทสัมผัสในการเรียนรู้ เช่น การฟัง การเห็น การชิมรส การดมกลิ่น การสัมผัสจับต้องสิ่งต่างๆ
ข้าพเจ้าจึงเห็นว่ากิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นการจัดกิจกรรมที่สามารถส่งเสริมและพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ศึกษาแนวคิดของ ฌอง เพียเจท์ (Jean Piaget) ที่กล่าวว่า พัฒนาการทางสติปัญญาเป็นผลมาจากการที่เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เด็กจะเรียนรู้สิ่งที่เป็นรูปธรรมก่อนเข้าสู่การเรียนรู้ที่เป็นนามธรรม และพัฒนาการทางสติปัญญาจะเป็นไปตามลำดับขั้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของจอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ที่กล่าวว่า ประสบการณ์สำหรับเด็กเกิดขึ้นได้ต้องใช้ความคิดและการลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ การทดลอง และการค้นพบด้วยตนเอง

ในการเรียนการสอน ครูจึงควรจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น ตลอดจนการใช้คำถาม อะไร” “ทำไมและ อย่างไร สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ทักษะการแก้ปัญหาต่อไปได้ 
อย่างไรก็ตามการฝึกทักษะการคิดพ่อแม่หรือผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็ก เพราะการเรียนรู้ครั้งแรกของเด็กเกิดที่บ้าน ทุกฝ่ายจึงควรร่วมมือกันเพื่อการเรียนรู้และให้เด็กได้มีทักษะชีวิตได้ในอนาคต

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พูดเป็น - พูดดี - พูดเพราะ

......สุพรรณี  บัวเนียม

.....ครูโรงเรียนวัดอภยาราม

          “การพูดเป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตประจำวันของเรามาก ซึ่งทำให้เกิดความสุข ความสำเร็จ หรือล้มเหลวได้ง่าย ๆ  โดยเฉพาะอาชีพครูที่จะต้องพูดอยู่บ่อย ๆ ฉะนั้นเรามาดูกันเถอะว่าเราควรจะพูดอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเป็นคน  พูดเป็น  พูดดี และพูดเพราะกันค่ะ   
   
          ๑. เมื่อจะพูดกับใครต้องมีสติและรู้ว่าควรจะพูดเพราะ พูดให้ดีๆ อย่าพูด เพราะอยากพูด หรือพูดตามใจตัวเอง คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น ผลที่ได้รับอาจนำความหายนะมาสู่เรา จงพูดด้วยความรู้สึกรักเพื่อนมนุษย์ และมีสติเสมอ และพูดด้วยภาษา น้ำเสียง ความหมายอย่างที่เราอยากได้ยิน ไม่ใช่พูดแบบสะใจตัวเอง
      
          ๒. ต้องฝึกจิตใจให้มีความกรุณาเพื่อนมนุษย์เสมอ ๆ คุณจึงจะสามารถพูดกับคนอื่นได้อย่างมีสติและด้วยความรักการพูดที่ดีมากที่อยากเอ่ยถึงคือ การพูดชมเชย และการปลอบโยนปลอบใจคน
                ๓. การพูดชมเชยเพื่อให้กำลังใจคนอื่น ต้องรู้จัก จับถูกคือไม่ จับผิดผู้อื่น ถ้าใครก็ตามได้ทำสิ่งใดที่ไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรมแล้วถือว่าเขาถูกต้อง ใช้ได้แล้ว ไม่ควรไปวิจารณ์หรือว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งส่วนมากคนชอบว่าคนอื่นทำไม่ถูกต้องเป็นเพราะตัวเองไม่ชอบสิ่งนั้น จึงคิดว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง นอกจากไม่วิจารณ์คนอื่นแล้ว ควรจะพูดชมเชยคนอื่นให้เป็นด้วย  จงชมในสิ่งที่เขามีดีหรือทำดี ประพฤติดี เท่าที่มองเห็นจริง ๆ ไม่ใช่ชมเชยแบบเกินจริง หรือชมแบบเสแสร้งไม่จริงใจ  จงพูดด้วยความรู้สึกจากใจว่าเขาทำเต็มที่แล้ว ทำได้แค่ไหนแค่นั้น ก็นับว่าเป็นการทำที่ดีมาก เก่งมากแล้ว โดยไม่ต้องนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ดีกว่าหรือหรือด้อยกว่า ควรพูดชมเชยให้กำลังใจเขา...
     
          ๔. การปลอบใจคน เป็นวิธีการพูดที่เป็นเสน่ห์อย่างมาก ยามที่คนหมดกำลังใจหรือทำสิ่งใดผิดพลาดไป หรือมีความทุกข์ คุณไม่ควรซ้ำเติม หรือพูดยกย่องตัวเองแล้วกล่าวถึงความด้อยของเขาให้เสียกำลังใจ  คุณควรจะพูดถ่อมตัวเองทำนองว่า เคยทำผิดพลาดในบางเรื่องเช่นกัน และพูดยกย่องเขาว่าเขามีความดี ความเด่นอีกหลาย ๆ อย่างที่สามารถทำให้เขาประสพความสำเร็จในครั้งต่อ ๆ ไป เป็นการให้ความหวังแก่เขา  และควรเสนอตัวคุณเองเพื่อช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ ถ้าจะเลี้ยงน้ำหวานเขาสักแก้วก็ดี เขาจะไม่ลืมบรรยากาศของการพูดคุยวันนั้นเลย

          อย่าไปพูดว่า “ไม่น่าเลย...ไม่น่าเลย” หรือ ถ้าเป็นฉัน ไม่ทำอย่างนี้หรอก”  เขาจะนึกว่าเขาทำความผิด และทำให้คนอื่นผิดหวังมากขึ้น     

          เคยมีนักเรียนคนหนึ่งสอบเอ็นทรานซ์ไม่ติด ครูพูดกับนักเรียนว่า....ไม่น่าเลยที่เธอเป็นคนเก่ง ทำไมสอบไม่ติด ครูอีกคนพูดว่า...ไม่น่าเลยนะ โรงเรียนหวังจะได้ชื่อเสียงจากเธอ” (เพราะเขาเป็นเด็กเรียนเก่ง)อีกคนพูดว่า...ไม่น่าเลยนะ นักเรียนอีกคนที่เก่งสู้เขาไม่ได้ กลับสอบติด”... เด็กนักเรียนคนนั้นกลับบ้านด้วยความน้อยใจและกินยาตายในที่สุด ก็เพราะคำว่า ไม่น่าเลย ๆ ๆ ๆ นี่แหละ จงหัดปลอบโยนคนให้เป็นไม่ใช่อยากปลอบโยนแต่ไปทำให้เขาทุกข์มากขึ้นอีก

          ๕. ประโยคที่ใช้ปลอบใจตัวเองหรือคนอื่นได้ดีที่คุณควรใช้บ่อย ๆ ได้แก่                      ไม่เป็นไรหรอก                 เดี๋ยวก็ดีขึ้น                 ช่างมันเถิด                 เดี๋ยวมันก็ผ่านไป                 รับรองว่าเดี๋ยวก็ดีขึ้นแน่ ๆ                 โธ่! เรื่องเล็กน่า...                 ใคร ๆ ทำผิดกันได้ทั้งนั้น                 ฉันก็เคยทำผิดมาแล้วเหมือนกัน                           คนที่มีวุฒิภาวะ ชีวิตมีคุณภาพ จะเป็นคนพูดเป็น พูดเพราะเสมอ  และรู้ตัวว่ากำลังพูดกับใคร ที่ไหน อย่างไร รู้กาลเทศะ มีเมตตากรุณาเสมอเพราะจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักมนุษย์  ดังนั้น ในการจัดการเรียนรู้ ครูจึงควรคำนึงถึงคำพูดที่ใช้กับนักเรียน  หากนักเรียนได้ฟังคำพูดที่เป็นปิยวาจา จะทำให้รู้สึกเหมือนมีน้ำทิพย์มาชโลมใจ รู้สึกเป็นมิตร ซาบซึ้งและไว้วางใจครูมากขึ้น

......................................................................

วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คุณค่าของการอ่านบทความ แล้วย้อนมามองตนเอง

.....ครูช่อแก้ว  วงษ์ตั้นหิ้น
.......ครูโรงเรียนวัดอภยาราม

สมองของเด็กถูกธรรมชาติโปรแกรมมา เพื่อให้ได้เล่น...เด็กๆจึงสนุกกับการที่ได้เล่นและในขณะที่พวกเขาได้เล่น สมองของพวกเขาก็จะเกิดการเรียนรู้ตามไปด้วย...แต่ในการศึกษาในประเทศเรากลับเป็นการยัดเยียดความรู้ให้เด็กๆเด็กๆได้เรียนเต็มเวลา...คาบเช้าเรียนเต็ม  บ่ายเรียนเต็ม...เวลาเล่นของพวกเขาไปอยู่ไหนเมื่อสมองของพวกเขาไม่ได้รับการพักผ่อนหรือ ผ่อนคลายจากที่ควรจะเป็นไปตามธรรมชาติแล้ว...สมองจึงเกิดความรู้สึกเครียดจากการถูกยัดการเรียนรู้ ทำให้กล้ามเนื้อสมองล้า และเหนื่อยความรู้สึกต่อต้านจากการเรียนรู้จึงตามมา ชีวิตวัยเด็กจากการที่ควรได้รับแต่เรื่องสนุกสนานกลับถูกยัดเยียดวิชาการสาระมากมาย การศึกษาไทยในหลายๆชั่วโมงที่เราได้สูญเสียไปจึงไร้ประโยชน์เพราะสมองของเด็กๆไม่ได้รับ จะเป็นไปได้ไหมถ้าเราออกแบบการเรียนรู้ของเด็กๆโดยการที่ได้เรียนไปเล่นไป ให้เกิดความสนุกสนาน เกิดความสุขกับการเรียนและควรจะเป็นไปได้ไหม หากเราลดคาบวิชาการลง และให้เด็กๆได้ทำกิจกรรมที่พวกเขาชอบและถนัด (บทความจากครูนอกกรอบ เมื่อวันที่ 13 เมษายน ๒๕๕๙)
เมื่อได้อ่านบทความนี้ จึงได้เกิดแนวคิดในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ และมีคำถามกับตัวเองว่าเรากำลังเป็นครูที่เผลอสอนแบบยัดเยียดความรู้ให้กับนักเรียนบ้างแล้วหรือไม่ เมื่อคิดทบทวนดูแล้ว ก็น่าจะมีบ้าง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน เลยไปขอความร่วมมือครูท่านอื่นให้ลองถามนักเรียน เช่น “ตอนเรียนคณิตศาสตร์หนูเครียดมั้ย” “มีภาระงานหรือการบ้านเยอะมั้ย”
“คุณครูดุหรือเปล่า” “ถ้าหนูเรียนไม่เข้าใจหนูกล้าถามครูมั้ย”
คำถามเหล่านี้ จะต้องให้ครูคนอื่นถาม และต้องเป็นคนที่นักเรียนรู้สึกไว้วางใจ แล้วจะได้คำตอบที่สามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาตนเอง จากเดิมที่สั่งการบ้านครั้งละเยอะๆ สอนอย่างรีบเร่งเพื่อให้จบเนื้อหาเร็วๆ จะได้รีบติวข้อสอบ ผลคือนักเรียนรู้สึกเหนื่อยล้า ท้อแท้ เบื่อหน่าย ครูเผลอทำร้ายเด็กๆโดยไม่รู้ตัว ถึงแม้จะเป็นความหวังดี แต่ถ้าเด็กนักเรียนรู้สึกว่าเป็นภาระที่น่าเบื่อหน่าย ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นกับเด็กน้อยอย่างน่าสงสาร แค่ปรับเปลี่ยนท่าทีในการสอน เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น นักเรียนจะกล้าตอบคำถามโดยไม่กลัวว่าครูจะดุเมื่อเขาตอบผิด
ให้กำลังใจ เสริมแรงให้นักเรียนมีความมุ่งมั่น ทำกิจกรรมที่นักเรียนรู้สึกผ่อนคลาย ชวนนักเรียนพูดคุย เล่าสู่กันฟังอย่างเป็นกันเอง  ความสุขของนักเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการเรียนรู้
เมื่อนักเรียนมีความสุข ครูจะเสริมสร้างวิชาการ หรือ บ่มเพาะคุณธรรม ก็ย่อมทำได้ เพราะเมื่อใจเป็นสุข คือใจที่มีคุณภาพ ย่อมน้อมรับสิ่งดีๆได้อย่างยั่งยืน

วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559

เด็กมี IQ อย่างเดียวไม่พอ! ต้องมี EF ทักษะฝึกสมองบ่มเพาะ "นิสัยอดทน-พากเพียร"

นางศันสนีย์ เพชรย้อย
ครูโรงเรียนวัดอภยาราม

โลกในวันข้างหน้าเก่งอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบของความอยู่รอด เด็กที่จะมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จได้ต้องเป็นผู้ที่มี EF” ดี คือ คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น มีความสุขเป็นซึ่งการพัฒนา “EF” พ่อแม่หลายคนอาจวิตกกังวล ยิ่งพูดถึงการพัฒนาสมอง ยิ่งไม่มั่นใจเข้าไปใหญ่ ว่าจะสอนลูกได้ไหม!?
                  ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ หนังสือและการอ่าน เครื่องมือพัฒนาทักษะสมอง Executive Functions-EF (เอ็กคลูซีฟ ฟังก์ชั่น-อีแอฟ) ในเด็กปฐมวัยคำตอบการปฏิรูปการศึกษาไทยจัดโดยสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สนับสนุนโดย สสส.) ณ ห้องประชุมใหญ่ กลุ่มบริษัท อาร์แอลจี มีคำตอบที่พ่อแม่สามารถสร้างลูกให้เติบโตขึ้นมาประสบความสำเร็จในชีวิตได้จากการ อ่าน
                     รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ทักษะ EF คือ กระบวนการทางความคิดในส่วน สมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก การกระทำเป็นความสามารถของสมองที่ใช้บริหารจัดการชีวิตในเรื่องต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถตั้งเป้าหมายในชีวิต รู้จักการวางแผน มีความมุ่งมั่น จดจำสิ่งต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ สามารถยั้งคิด ไตร่ตรอง ควบคุมอารมณ์ได้ ยืดหยุ่นความคิดเป็น สามารถจัดลำดับความสำคัญในชีวิต รวมทั้งรู้จักริเริ่มและลงมือทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใช้และมีผลต่อความสำเร็จในชีวิต ทั้งการงานการเรียน และการใช้ชีวิต
                   ที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์ เป็นคุณสมบัติที่ทำให้ไปสู่ความสำเร็จได้ เป็นคุณสมบัติที่มนุษย์มี แต่สัตว์อื่นไม่มีรศ.ดร.นวลจันทร์เผย และอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สมองส่วนหน้าว่า เปรียบเสมือนซีอีโอที่คอยรับเอาข้อมูลต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ไขปัญหา ก่อนที่เราจะตอบสนองออกไป ช่วยให้เราตอบสนองอัตโนมัติ มีอะไรผ่านเข้ามาแล้วหยุดคิดนิดหนึ่ง ไตร่ตรอง ก่อนที่จะทำอะไรลงไป เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ
สำหรับกลุ่มทักษะ EF ที่สำคัญมีทั้งหมด  9 ด้าน
 1.ทักษะความจำที่นำมาใช้งาน (Working Memory) คือทักษะจำหรือเก็บข้อมูลจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และดึงมาใช้ประโยชน์ตามสถานการณ์ที่พบเจอ เด็กที่มีเวิร์กกิ้ง เมมโมรีดี ไอคิวก็จะดีด้วย
2.ทักษะการยับยั้งชั่งใจ-คิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) คือความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เด็กที่ขาดความยับยั้งชั่งใจจะเหมือน รถที่ขาดเบรกอาจทำสิ่งใดโดยไม่คิด มีปฏิกิริยาในทางที่ก่อให้เกิดปัญหาได้
3.ทักษะการยืดหยุ่นความคิด (Shift Cognitive Flexibility) คือความสามารถในการยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ยึดตายตัว
4.ทักษะการใส่ใจจดจ่อ (Focus) คือความสามารถในการใส่ใจจดจ่อ มุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง
5.การควบคุมอารมณ์ (Emotion Control) คือ ความสามารถในการควบคุมแสดงออกทางอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เด็กที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มักเป็นคนโกรธเกรี้ยว ฉุนเฉียว และอาจมีอาการซึมเศร้า
6.การประเมินตัวเอง (Self-Monitoring) คือการสะท้อนการกระทำของตนเอง รู้จักตนเอง รวมถึงการประเมินการงานเพื่อหาข้อบกพร่อง
7.การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) คือ ความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำตามที่คิด ไม่กลัวความล้มเหลว ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
8.การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ (Planning and Organizing) คือทักษะการทำงาน ตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย การวางแผน การมองเห็นภาพรวม ซึ่งเด็กที่ขาดทักษะนี้จะวางแผนไม่เป็น ทำให้งานมีปัญหา
9.การมุ่งเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence) คือ ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย เมื่อตั้งใจและลงมือทำสิ่งใดแล้ว ก็มีความมุ่งมั่นอดทน ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ ก็พร้อมฝ่าฟันให้สำเร็จ
EF เกี่ยวข้องกับความสำเร็จอย่างไร รศ.ดร.นวลจันทร์อธิบายว่า มีงานวิจัยมากมายระบุว่าเด็กที่มี EF ดี จะมีความพร้อมทางการเรียนมากกว่าเด็กที่ EF ไม่ดี และประสบความสำเร็จได้ในการเรียนทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม ไปถึงมหาวิทยาลัย จนกระทั่งในการทำงาน เด็กที่หยุดได้ ไตร่ตรองเป็น ไม่หุนหันพลันแล่น มีเป้าหมาย และทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ นี่แหละจะทำให้เขาประสบความสำเร็จเมื่อโตขึ้น
มนุษย์เราไม่ได้เกิดมาพร้อมทักษะ EF แต่เราเกิดมาพร้อมศักยภาพที่จะพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้ ผ่านการฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การวิจัยจำนวนไม่น้อยชี้ให้เห็นว่า EF เริ่มพัฒนาขึ้นในเวลาไม่นานหลังปฏิสนธิ โดยช่วงวัย 3-6 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF ด้านต่างๆ ให้กับเด็ก เพราะเป็นช่วงที่สมองส่วนหน้าพัฒนามากที่สุด และพ่อแม่จะพัฒนาทักษะนี้ให้ลูกอย่างไร รศ.ดร.นวลจันทร์แนะว่า พ่อแม่ยังต้องดูแลเรื่องอาหารการกิน การพักผ่อน ให้ความรักความอุ่นเขาตามปกติ เพราะถ้าเด็กการรับรู้ไม่ดี ประสาทสัมผัสทั้งหลายไม่ดี เขาก็ยากที่จะพัฒนา EF ได้  ส่วนจะสอนอะไรเพื่อให้เด็กมี EF ดี มีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเลือกของเล่นให้ลูกได้คิดอย่างสร้างสรรค์ เช่น  หมากฮอส หมากรุก พวกนี้ฝึกสมองส่วนหน้าช่วยพัฒนาความคิดของเด็ก หรือแม้แต่ทำงานบ้าน เป็นการฝึกให้มีความรับผิดชอบ รวมทั้งการอ่านหนังสือ ยิ่งพ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังมากเท่าไหร่ เด็กจะมีทักษะเรื่องการอ่าน การเขียน เชาวน์ปัญญาดีขึ้นเท่านั้น หรือส่งเสริมให้เด็กเล่นดนตรีก็เป็นการฝึกสมองที่ดีเช่นกัน  ที่สำคัญอย่าให้เด็กเครียด ถ้าเครียดเมื่อไหร่สมองส่วนหน้าจะไม่ทำงาน ฉะนั้น สิ่งแวดล้อมที่ไม่กดดันมากนัก และมีความเป็นมิตร จะช่วยเปิดโอกาสให้เด็กกล้าคิดกล้าทำรศ.ดร.นวลจันทร์กล่าว
*********************************
  ที่มาจาก หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559

ข่าวการศึกษา