วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วันภาษาไทยแห่งชาติ


….นางชมขวัญ  ขุนวิเศษ...

ความเป็นมา  
                                                                                                
          สืบเนื่องจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย รวมถึงเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกัน ทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่นๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์  วันสื่อสารแห่งชาติ เป็นต้น  และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ 


เหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ

          สำหรับเหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ นั้นเพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ "ปัญหาการใช้คำไทย" โดยพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปราย ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยรวมถึงความห่วงใยในภาษาไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจกับผู้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง

          
สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า " เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก..."


          นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ซึ่งในโอกาสต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส  อย่างในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2512  ที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า " ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนือง ๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ "

 
          นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยะภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จาก  พระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ    ติโต พระราชนิพนธ์แปล    บทความเรื่องสั้น ๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก  เป็นต้น
 
            โรงเรียนวัดอภยาราม  ได้เล็งเห็นความสำคัญและตระหนักในคุณค่าของภาษาไทย  จึงได้จัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติประจำปี  ๒๕๕๖ ขึ้น  ในวันที่  ๒๙  กรกฎาคม  ๒๕๕๖ โดยจัดกิจกรรมบูรณาการตามหลักสูตรสถานศึกษากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ทั้งด้าน การอ่าน   การเขียน  การฟังการดูและการพูด  หลักการใช้ภาษา  และวรรณคดีและวรรณกรรม  ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  สำเร็จตามวัตถุประสงค์ทุกประการ

วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนานักเรียนสู่ความสำเร็จ

                                                                                ...นางสาวช่อแก้ว  วงษ์ตั้นหิ้น
                                                                                 ครูโรงเรียนวัดอภยาราม...
               
ในการจัดการเรียนรู้ เชื่อว่าครูทุกคนย่อมพบเจอปัญหาต่าง ๆ บางปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ในทันที แต่บางปัญหาต้องอาศัยเวลาเพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหา และวิเคราะห์แนวทางแก้ไขอย่างรอบด้าน การจัดการเรียนรู้จะประสบผลสำเร็จได้นั้น การวางแผนของครูผู้สอนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง 
                   
จากประสบการณ์ในการจัดการเรียนการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ได้ดำเนินการเพื่อพัฒนานักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ดังนี้  มีการวางแผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนานักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ ได้สำรวจปัญหา โดยสังเกตนักเรียนเป็นรายบุคคล และได้พบปัญหาอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความห่างเหินกันระหว่างครูผู้สอนและตัวนักเรียน คือนักเรียนกลัวครูดุ ไม่กล้าถามเมื่อไม่เข้าใจ และไม่กล้าตอบคำถามของครู กลัวว่าจะตอบคำถามผิด จึงเกิดความไม่มั่นใจในตนเอง ไม่กล้าคิดไม่กล้าทำ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการเรียนรู้คณิตศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง
สิ่งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงของครูผู้สอน จากเดิมเป็นคนค่อนข้างเงียบขรึม พูดน้อย จึงพยายามสร้างรอยยิ้ม ชวนนักเรียนพูดคุยเรื่องทั่ว ๆ ไป เพื่อให้นักเรียนรู้สึกเป็นกันเอง ไว้วางใจครู ว่าจะเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือ และห่วงใยนักเรียนเสมอ หลังจากการปรับปรุงบุคลิกของครูในระยะเวลาไม่นาน นักเรียนมีปฏิกิริยาตอบรับดีมาก นักเรียนกล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็น เมื่อผิดพลาดไปบ้างครูก็ควรให้กำลังใจนักเรียน และแนะนำให้นักเรียนมีความรอบคอบ และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การปลูกฝังคุณธรรมให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและต้องใช้เวลา แต่จะส่งผลดีในระยะยาว และช่วยให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจที่คงทน เพราะนักเรียนจะสามารถเรียนรู้ได้ดีเมื่อนักเรียนมีนิสัยใฝ่รู้ และมีความรับผิดชอบ หลังจากที่นักเรียนได้เรียนกับครูและเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนแล้ว นักเรียนก็ควรจะได้ฝึกฝนด้วยตนเอง จนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งนิสัยใฝ่รู้และความรับผิดชอบได้ส่งผลให้นักเรียนเรียนเก่งตามขึ้นด้วย  ฉะนั้น ถ้าในชั้นเรียนมีนักเรียนลักษณะนิสัยดังกล่าวมากขึ้น ก็เท่ากับได้เพิ่มจำนวนนักเรียนที่เรียนเก่งในชั้นเรียน จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น  นอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน คือ นโยบายของโรงเรียน การวางแผนร่วมกัน การได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากผู้บริหารโรงเรียนช่วยให้การดำเนินงานมีเป้าหมายที่ชัดเจน
                ดังนั้นการพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพ  จึงควรพิจารณาทั้งในด้านความดี ความเก่ง และความสุข เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่านักเรียนจะได้รับการพัฒนาอย่างแท้จริง ขออวยพรให้ครูทุกท่านจงประสบความสำเร็จจากความมุ่งมั่น ทุ่มเท และเสียสละเพื่อเยาวชนของชาติ

...........................................................................................

ข่าวการศึกษา