วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558

สมาธิ การเรียนรู้ และความจำ

โดย...

นางปิยวรรณ        บุญรุ่ง

ครูโรงเรียนวัดอภยาราม


Robert Sylvester นักวิชาการด้านการเรียนรู้ได้ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า อารมณ์ทำให้เกิดความสนใจ และความ
สนใจทำให้เกิดการเรียนรู้ (Emotion drives attention, attention drive learning)” 3-4 ลักษณะ ได้แก่  อะไรที่ใหม่ๆ  อะไรที่มี
การเคลื่อนไหว  อะไรที่มีแสงวูบวาบฉูดฉาด รวมทั้งอะไรที่แรงๆ เช่น กลิ่นแรงๆ เสียงดังๆ เป็นต้น
สิ่งเร้าที่มีคุณสมบัติแบบนี้จะดึงความสนใจของคนได้ดี ดังนั้นเราจะเห็นว่าบรรดาสื่อโฆษณาทั้งหลายพยายามทำให้สื่อดึงความสนใจของคน แต่คุณสมบัติของสิ่งเร้าหรือสื่อแบบนี้ดึงความสนใจของเราได้ชั่วคราว ถ้าหากเนื้อหาหรือเรื่องราวที่อยู่ภายในไม่มีความหมายหรือไม่มีความเกี่ยวข้องกับเราเลย  ฉะนั้นความหมายของสิ่งต่างๆ รอบตัวที่มีต่อตัวเราจึงเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสมาธิ การเรียนรู้ และความจำที่สำคัญที่สุดและมีอิทธิพลทำให้เกิดการเรียนรู้และสมาธิได้มากที่สุด  ซึ่งนี้เป็นจุดที่จะเปิดไปสู่การเรียนรู้ และการพัฒนาสมาธิ รวมทั้งความจำ
ขั้นต่อไปคือ ทำให้ความสนใจนั้นแรงขึ้น ยาวนานขึ้น วิธีที่ง่ายที่สุดคือการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นซึ่งเป็นธรรมชาติของคนเราให้ทำงานมากขึ้น วิธีการคือ ตั้งคำถาม ท้าทายให้แสวงหาคำตอบ หรือแม้แต่กระตุ้นให้เกิดความสงสัย ยิ่งเป็นคำถามปลายเปิด  คำถามที่เจาะไปได้เรื่อยๆ ไม่มีจุดจบ ยิ่งเป็นเรื่องท้าทาย เราไม่เน้นคุณภาพของคำถามว่าจะมีเหตุผลหรือไม่ เพราะเรากำลังกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น
มาถึงขั้นตอนการสรุปความรู้ที่ได้จากการแสวงหา สิ่งที่ต้องทำก็คือให้สรุปสิ่งที่ได้มาด้วยตัวเอง อาจจะใช้การบันทึก การวาดเป็นรูป การทำเป็นเครื่องหมาย หรือแม้แต่การเล่าให้ฟังด้วยคำพูด  จะทำให้จำได้ดีกว่าไม่ต้องกลัวว่าจะเรียนรู้ไปผิดๆ เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้น
การสร้างสมาธิและคุณภาพการเรียนรู้และความเข้าใจนั้น ต้องเริ่มจากสิ่งที่สนใจหรือประทับใจ แล้วทำให้เกิดคำถามกับสิ่งนั่น สนับสนุนให้เกิดการหาคำตอบอย่างไม่สิ้นสุดแล้วให้สรุปผลที่ได้ด้วยตัวเอง หากคำตอบหรือความรู้ที่ได้มายังไม่ถูกต้อง ก็สร้างวิธีการสอบทานคำตอบนั่น ด้วยการสร้างคำถามต่อคำตอบ  ซึ่งวิธีการนี้เหมาะสำหรับนำมาบูรณาการการเรียนการสอนให้กับเด็กมากเพราะเป็นการเรียนรู้ได้จากความอยากรู้ของตัวเด็กจริงๆ

แหล่งที่มา  http://www.karn.tv/ห้องสมุด/บทความวิชาการ/209


ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการเล่านิทาน

นิทานช่วยพัฒนาภาษา ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และจินตนาการ เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม สานสายใยครอบครัว ปลูกฝังให้รักการอ่าน สนุกสนาน เพลิดเพลินและมีสมาธิ สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ที่เหมะสมในแต่ละช่วงวัยและจากสิ่งที่ได้อ่านได้ฟังยังใช้เป็นแนวทางที่จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ เพื่อให้เด็กอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจและมีความสุข
ขณะตั้งครรภ์ ควรเลือกหนังสือที่สนุกสนานโดยแม่ตั้งใจเล่านิทานให้ลูกน้อยในครรภ์ฟัง
วัยแรกเกิด - 1 ปี วัยนี้จะสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ชอบมองของที่มีสีสวยงาม รู้สึกสนุกกับการค้นหา หนังสือที่เหมาะสมกับวัยนี้ ควรเป็นหนังสือที่มีรูปภาพเดี่ยวเหมือนจริง เช่น รูปสัตว์ ผลไม้ ฯลฯ ฉากหลังของภาพไม่รกรุงรัง
วัย 2-3 ปี เป็นวัยอยากเรียนรู้สิ่งต่างๆ สนใจค้นหาชอบสำรวจสิ่งต่างๆ มีการพัฒนาทางภาษารวดเร็ว ชอบฟังบทกลอนสั้นๆ ใช้ภาษาง่ายๆ หนังสือที่เหมาะสมกับวัยนี้ ควรมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน สัตว์ สิ่งของใช้ภาษาง่ายๆอาจเป็น บทกลอนหรือคำคล้องจอง
วัย 4-5 ปี เด็กวัยนี้พูดเป็นประโยคยาวๆได้ ชอบตั้งคำถามทำไม อย่างไร ช่างสังเกต ช่างฝัน เริ่มมีจินตนาการ เล่นเป็นกลุ่มด้วยบทสมมติเป็น หนังสือที่เหมาะกับวัยนี้ ควรเป็นเรื่องที่ประสานกลมกลืน เนื้อเรื่องสนุก ใช้ภาษาแปลกๆ รูปภาพน้อยลงแต่รายละเอียดของภาพมากขึ้น
วัย 6-7 ปี เด็กวัยนี้พูดได้ชัดเจน เล่าเรื่องต่างๆได้ยาว ชอบแสดงท่าทางประกอบหรือเลียนแบบ หนังสือที่เหมาะกับวัยนี้ ควรเป็นเรื่องสั้นๆ ใช้ภาษาง่ายๆ เนื้อเรื่องตลกขบขัน มีการสอดแทรกจริยธรรม
วัย 8-11 ปี เด็กวัยนี้จะเริ่มรู้จักคิดเป็นเหตุเป็นผล ชอบเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ มีสมาธิดีขึ้น หนังสือที่เหมาะกับวัยนี้ ควรเป็นหนังสือที่เขียนจากเรื่องจริง เช่น ประวัติบุคคลสำคัญ ความรู้รอบตัว ฯลฯ มีการสอดแทรกจริยธรรมในเนื้อเรื่อง
วัย 12-15 ปี เด็กวัยนี้มีความคิดเป็นของตัวเอง เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม บางครั้งสับสนกับบทบาทของตนเองชอบเลียนแบบสื่อที่ชอบ หนังสือที่เหมาะสมกับวัยนี้ ควรเป็นเรื่องที่ มีความหลากหลาย ซับซ้อน ที่สามารถคิดคาดเดาและท้าทายให้อยากรู้ต่อไป มีการสอดแทรกคุณธรรม และจริยธรรม
ดังนั้นเราควรส่งเสริมให้เด็กๆได้ฟังหรืออ่านนิทานจากหนังสือที่เหมาะสมกับวัยเพื่อช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ดีมีความฉลาดทางอารมณ์ และมีความสุข

แหล่งที่มา: นิตยสาร ''แม่และเด็ก''
                   http://women.sanook.com/2521/
                   http://www.prthai.com/articledetail.asp?kid=10460

โดย...
นางปิยวรรณ  บุญรุ่ง
ครูโรงเรียนวัดอภยาราม

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์จากห้องเรียนสู่ชีวิตจริง (ระดับประถมศึกษา)

นางสุพรรษา  ย้อยรักษ์
                                                                             บุคลกรวิทยาศาสตร์โรงเรียนวัดอภยาราม
วิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ ตลอดชีวิตของทุกคนต่างก็มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น  การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญที่จะทำให้คนได้พัฒนาวิธีคิด ทั้งความคิดเป็นเหตุเป็นผล คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ มีความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ช่วยให้คนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติและ เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุที่วิทยาศาสตร์มีความสำคัญ เราจึงต้องเรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็กเพื่อให้พร้อมที่จะนำวิทยาศาสตร์ไป แก้ปัญหาที่เราต้องพบต่อไปในอนาคต  ดังนั้นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้สอนวิทยาศาสตร์ที่จะต้องดำเนินการ คือครูจะต้องพัฒนานักเรียนให้มีความใฝ่รู้ มีเหตุผล ร่วมแสดงความคิดเห็นและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์ สามารถนำความรู้ไปใช้อย่างมีเหตุผล
           การสอนวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษาเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เพราะการดำเนินชีวิตของเด็กๆ เป็นวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว   เด็กในวัยประถมศึกษา เป็นวัยอยากรู้อยากเห็นเรื่องรอบตัว การสอนวิทยาศาสตร์ควรส่งเสริมให้เด็กๆได้ลงมือกระทำด้วยตนเอง ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมงานกับเพื่อน ใช้พลังความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ฝึกทักษะการสังเกต ทำงานเป็นขั้นตอน ได้ค้นพบความรู้ด้วยตัวเอง ทำให้เกิดมีความภาคภูมิใจ             
          การเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์จากห้องเรียนสู่ชีวิตจริงในการเรียนรู้ เช่น การให้นักเรียนเลี้ยงหนอนจนเป็นผีเสื้อ เลี้ยงลูกอ๊อด จนเห็นการพัฒนาของสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกเป็นลูกกบ  นอกจากนักเรียนจะได้ฝึกสังเกต ฝึกบันทึกรายงานแล้ว  นักเรียนยังเรียนรู้ที่จะให้อาหาร เฝ้าดูพัฒนาการของชีวิตที่เกิดมาด้วยความใส่ใจ เรียนรู้ที่จะรักษาชีวิตอื่นมากกว่าทำลาย เห็นคุณค่าสิ่งมีชีวิต  ซึ่งจะสร้างความอ่อนโยนในจิตใจได้อีกทางหนึ่งด้วย
             ดังนั้นข้าพเจ้ามองว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากมากกว่าความรู้ คือ กระบวนการในการเรียนรู้   ครูจึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้นักเรียนของเรามีทักษะการใช้ชีวิต มีความสมบูรณ์ทั้งความรู้ ความคิด และการแก้ปัญหาในชีวิตต่อไปค่ะ    

http://i416.photobucket.com/albums/pp247/khate-khate1/Day%20aa/ty109.gif 


                       
                       


วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

แนวทางให้นักเรียนรักการเรียนรู้

....นางชมขวัญ  ขุนวิเศษ
...ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดอภยาราม....

          ปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่การมีอาคารที่สวยงาม การมีงบประมาณที่เพียงพอ หรือสื่อที่หลากหลาย แต่ปัจจัยสำคัญที่สุด คือความสามารถของครูในการจัดการเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้จะประสบความสำเร็จได้  ผู้เรียนจะต้องรัก ชอบ และสนใจในการเรียนรู้นั้น ครูจึงจำเป็นต้องหาวิธีให้นักเรียนเกิดความรักที่จะเรียนรู้

          บางครั้งวิธีที่ครูทำเพื่อช่วยเหลือดูแลให้นักเรียนมีความสามารถในการเรียนรู้หรือแก้ปัญหา อาจมีความผิดพลาดแล้วทำร้ายเด็กโดยไม่เจตนา ความมั่นใจ ความรักและความชอบในการเรียนรู้จึงอาจถูกทำลายไป ซึ่งแม้ว่าเรื่องที่สอน วิธีการสอนสำหรับเด็กแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน   แต่สิ่งที่จะเป็นพื้นฐานในการสอนและสำคัญต่อการรัก ความชอบที่จะเรียนรู้สำหรับเด็กทุกวัย คือ การสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน
          จะเห็นว่า เมื่อไรสัมพันธภาพระหว่างครูและผู้เรียนไม่ดี เด็กจะปฏิเสธการเรียนรู้ คือไม่ชอบ ไม่อยากเรียน แรงจูงใจต่ำ ทำให้ครูที่ตั้งอกตั้งใจสอนโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย รู้สึกเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เริ่มไม่มั่นใจในตนเอง เหนื่อยหน่าย ชิงชังเด็กว่าไม่รักครูได้โดยไม่รู้ตัว จากความหวังว่าจะสนุกมีความสุขกับการสอน ต้องมาพบตัวเองอีกทีว่า ต้องรบราเคี่ยวเข็ญกับเด็กเหมือนทำสงครามสู้รบกันตลอดเวลา
ดังนั้น จึงต้องช่วยครูหาวิธีทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยฝึกทักษะการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับนักเรียน เพื่อสร้างสะพานเชื่อมถึงกัน ซึ่งทักษะง่ายๆ ไม่ได้ใช้ความรู้ที่ลึกซึ้งเลยก็คือ การสื่อสาร เริ่มจากการพูด เพราะ การพูดสื่อสารอาจทำให้เกิดความเกลียดชังได้พอ ๆกับการส่งเสริมให้เกิดความสุขในการเรียนรู้ได้ดังนั้น ครูต้องระวัง ไม่ใช้ภาษาแสดงการไม่ยอมรับ หรือใช้อำนาจข่มขู่ เพราะอาจจะเป็นการสร้างกำแพงไม่ให้นักเรียนสื่อสารกลับ ทำให้ยากต่อความรัก ความชอบในการเรียนรู้ เช่น การวิจารณ์ติเตียนว่า เธอมันขี้เกียจจริงๆ แย่มาก หรือการตราหน้าว่า ทำตัวเหมือนเด็กอนุบาลทั้งที่อยู่ ป.6 แล้ว หรือการตักเตือนขู่ว่า ลืมได้ทุกวันจะให้ตกซ้ำชั้นแล้วเป็นต้น การสื่อสารแบบนี้ใช้ไม่ได้  ครูจึงต้องระมัดระวังในการสื่อสารและต้องปฏิบัติต่อนักเรียนโดยเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
          นอกจากการพูด ครูก็ต้องฝึกฟังด้วย เราอาจคิดว่าเราฟังเป็นฟังทุกวัน แต่ความจริงสิ่งที่ได้ฟังอาจเป็นคนละเรื่องกับที่นักเรียนพยายามสื่อสารก็ได้ ดังนั้น เมื่อให้นักเรียนพูด ครูต้องฝึกตรวจสอบ เรื่องราวที่เข้าใจจากการฟัง ว่าตรงกับสิ่งที่เด็กต้องการสื่อสารหรือไม่ และต้องแสดงอาการรับรู้ขณะนักเรียนสื่อสาร เช่น ค่ะ ยิ้ม หรือพยักหน้า เมื่อเด็กรู้ว่าครูเข้าใจเขา ความรู้สึกดี ๆ มีกำลังใจ มีความมั่นใจ ความรักในการเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้น

          สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ อารมณ์ของครูต้องยิ้มแย้ม แจ่มใส สนุก สอดแทรกกิจกรรม เกม เพลง หรือกิจกรรมที่เด็กสนใจขณะจัดการเรียนรู้ ถ้าหากทำได้เช่นนี้ การสร้างฉันทะ หรือความพอใจรักใคร่จะเรียนรู้และพลังความคิดดีๆ ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ....

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ทำไมต้อง BBL แล้ว BBL คืออะไร

โดย.... นางวรรณี  เพ็งประไพ
ครูโรงเรียนวัดอภยาราม

            ผู้ปกครอง  หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานศึกษา  ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการศึกษาอาจจะยังไม่เข้าใจ BBL
เป็นอย่างไร  เมื่อก้าวเข้ามาสู่รั้วของโรงเรียนก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ  เช่น ถนนในโรงเรียน   สนามเด็กเล่น  อาคารเรียน  อาคารประกอบต่าง ๆ  มีสีสันที่สดใสแปลกตา  มีห้องเรียนโต๊ะ  เก้าอี้ที่หลากสี   ซึ่งแต่ละสีมีความหมาย  และมีผลต่อการพัฒนาสมองของนักเรียนโดยตรง  นี่แหละคือส่วนหนึ่งของ   BBL  และเมื่อท่านได้อ่านบทความนี้  อาจทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้นบ้าง
            BBL  :  Brain  based  Learning  เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการพัฒนาการสมองของมนุษย์  โดยนำความรู้ใหม่ ๆ  ด้านประสาทวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียน  โดยใช้กุญแจ  5  ดอก   คือ

1.                   การปรับเปลี่ยนสนามเด็กเล่น     เพื่อพัฒนาสมองน้อย  และไขสันหลังให้แข็งแกร่ง  เมื่อเด็กได้ออกกำลังกาย  ร่างกายจะส่งเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้นทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

           2.                   ปรับเปลี่ยนห้องเรียน    เพื่อเปลี่ยนสมองของเด็ก  สิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่  มีความเข้มข้นมีสีสัน  จะช่วยกระตุ้นให้เด็กสามารถเรียนรู้  และจดจำเนื้อหาที่เรียนได้ดีขึ้น


      3.                   การจัดกระบวนการเรียนรู้  เป็นการกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก  โดยใช้กิจกรรมต่าง ๆในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้สมองเด็กตื่นตัว  สนใจ  ท้าทายการคิด  ค้นหา  ลองผิด  ลองถูก  เรียนรู้  และจดจำกิจกรรมที่กระตุ้นสมองเด็ก เช่น  กิจกรรมขยับกาย  ขยายสอง  ทุกๆ ต้นชั่วโมง  การใช้บทเพลง  และบทกลอน  กิจกรรมที่นักเรียนได้เห็นภาพ  ได้รับรู้ผ่านการได้ยินเสียง  ได้เคลื่อนไหว  และได้ใช้ประสาทสัมผัส



            4.                   หนังสือเรียน  และใบงาน  ใช้หนังสือเรียนและใบงานที่ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับการทำงานของสมอง  เพื่อช่วยกระตุ้นสมองของนักเรียน  ฝึกให้เด็กคิดทีละขั้นตอน และนำทักษะความรู้ในแต่ละขั้นมาประกอบกันเป็นความเข้าใจในที่สุด



5.                   สื่อและนวัตกรรม ใช้สื่อและนวัตกรรมที่แปลกใหม่   น่าตื่นเต้น  และมีสีสัน  และมีจำนวนเพียงพอกับนักเรียนทุกคน  เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยในการเรียนรู้  และกระตุ้นให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน  พึงพอใจ  เกิดความตั้งใจที่จะเรียนรู้เนื้อหาที่ซับซ้อน



                                                     
 ที่มา  คู่มือพลิกโฉมโรงเรียนตามแนวคิด       BBL   โดย  อ.พรพิไล  เลิศวิชา

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ข้อห้ามที่ควรรู้ของประเทศในกลุ่มอาเซียน


โดย.........นายพิพัฒน์  ทองต้ง 

ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนวัดอภยาราม    

อ้างอิงจาก teen.mthai.com และข้อมูลประกอบจาก thai-aec


           
ปัจจุบันนี้หากเราไม่รู้จัก AEC หรืออาเซียนไม่ได้แล้ว เพราะไม่อย่างนั้นเราก็คุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง  ยิ่งเป็นนักเรียนนักศึกษาด้วยแล้วต้องรู้เรื่อง  เพราะว่าครูอาจารย์ท่านก็เอาไปใช้เป็นข้อสอบ  โดยเฉพาะวิชาสังคมศึกษาหรือวิชาอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน  ดังนั้นจะมาบอกว่าไม่ต้องรู้ไม่ได้

            ดังนั้นคุณต้องรู้จักอาเซียนในแง่มุมต่างๆ ให้ครบถ้วนทั้งเรื่องทั่วๆ ไปที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน และรวมถึงเรื่องข้อห้ามบางประการของประเทศในอาเซียนที่น่ารู้แต่ยังไม่คอยมีใครนำเสนอมากนัก  ดังนี้

1. ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม (Brunei Darussalam)


1. ควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีเหลือง เพราะถือเป็นสีของพระมหากษัตริย์

2. การทักทายจะจับมือกันเบาๆ และสตรีจะไม่ยื่นมือให้บุรุษจับ

3. การใช้นิ้วชี้ไปที่คนหรือสิ่งของถือว่าไม่สุภาพ แต่จะใช้หัวแม่มือชี้แทน

4. จะไม่ใช้มือซ้ายในการส่งของให้ผู้อื่น

5. สตรีเวลานั่งจะไม่ให้เท้าชี้ไปทางผู้ชายและไม่ส่งเสียงหรือหัวเราะดัง

6. วันหยุดคือวันศุกร์และวันอาทิตย์, วันศุกร์ 12.00-14.00 น.ทุกร้านจะปิด

7. จัดงานเย็นต้องจัดหลัง 2 ทุ่ม


 2. ประเทศกัมพูชา (Cambodia)

1. ผู้หญิงห้ามแต่งตัวเซ็กซี่, ผู้ชายไว้ผมยาวจะมีภาพลักษณ์ นักเลง

2. ห้ามจับศีรษะ คนกัมพูชาถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของร่างกาย

3. สบตามากเกินไป ถือว่าไม่ให้เกียรติ


 3. ประเทศอินโดนีเซีย (Indonesia)

1. ไม่ควรใช้มือซ้ายในการรับ-ส่งของ คนมุสลิมอินโดนีเซียถือว่ามือซ้ายไม่สุภาพ

2. นิยมใช้มือกินข้าว

3. ไม่ควรชี้นิ้วด้วยนิ้วชี้ แต่ใช้นิ้วโป้งแทน

4. ไม่จับศีรษะคนอินโดนีเซียรวมทั้งการลูบศีรษะเด็ก

5. การครอบครองยาเสพติด อาวุธ หนังสือรูปภาพอนาจาร มีบทลงโทษหนัก อาทิ การนำเข้าและครอบครองยาเสพติดมีโทษถึงประหารชีวิต

6. บทลงโทษรุนแรงเกี่ยวกับการค้าและส่งออกพืชและสัตว์กว่า 200 ชนิด จึงควรตรวจสอบก่อนซื้อหรือนำพืชและสัตว์ออกนอกประเทศ

7. มอเตอร์ไซค์รับจ้างต้องมีมิเตอร์

8. งานศพใส่ชุดสีอะไรก็ได้


4. ประเทศลาว (Laos)

1. ลาวขับรถทางขวา

2. ติดต่อราชการต้องนุ่งซิ่น

3. เดินผ่านผู้ใหญ่ ต้องก้มหัว

4. ถ้าเพื่อนคนลาวเชิญไปพักที่บ้านห้ามให้เงิน

5. อย่าซื้อน้ำหอมให้กัน

6. เข้าบ้านต้องถอดรองเท้า และถ้าเขาเสิร์ฟน้ำต้องดื่ม


 5. ประเทศมาเลเซีย (Malaysia)

1. ให้ใช้มือขวาเพียงข้างเดียวในการรับประทานอาหาร และรับส่งของ

2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องต้องห้าม


6. ประเทศเมียนมาร์ หรือพม่า (Myanmar)

1. ไม่ควรพูดเรื่องการเมือง กับคนไม่คุ้นเคย

2. เข้าวัดต้องถอดรองเท้า ถุงเท้า

3. ห้ามเหยียบเงาพระสงฆ์

4. ให้นามบัตรต้องยื่นให้สองมือ

5. ไม่ควรใส่กระโปรงสั้น กางเกงขาสั้น ในสถานที่สาธารณะและศาสนสถาน

6. ผู้หญิงชอบทาทะนาคา (ผู้ชายก็ทาด้วย) ผู้ชายชอบเคี้ยวหมาก


 7. ประเทศฟิลิปปินส์ (Philippines)

1. เท้าสะเอว หมายถึง ท้าทาย, เลิกคิ้ว หมายถึง ทักทาย

2. ใช้ปากชี้ของ

3. กินข้าวบ้านเพื่อนสามารถห่อกลับได้ แต่ควรมีของฝากให้เขาด้วย

4. ตกแต่งบ้าน 2 เดือน ต้อนรับคริสต์มาส


 8. ประเทศสิงคโปร์ (Singapore)

1. การหลบหนีเข้าสิงคโปร์และประกอบอาชีพเร่ขายบริการผิดกฎหมาย จะถูกลงโทษอย่างรุนแรง

2. การลักลอบนำยาเสพติด อาวุธปืนและสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ จะได้รับโทษอย่างรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต

3. ขึ้นบันไดเลื่อนให้ชิดซ้าย

4. ห้ามทิ้งขยะเรี่ยราด, ห้ามเก็บผลไม้ในที่สาธารณะ


 9. ประเทศเวียดนาม (Vietnam)

1. เวียดนามไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพอาคารที่ทำการต่างๆ ของรัฐ

2. คดียาเสพติดการฉ้อโกงหน่วยงานของรัฐมีโทษประหารชีวิต

3. ตีกลองแทนออดเข้าเรียน

4. ชุดนักเรียนหญิงเป็นชุดอ่าวหญ่าย

5. คนภาคเหนือไม่ทานน้ำแข็ง

6. ไม่ถ่ายรูป 3 คนอย่างเด็ดขาด เพราะถือว่าจะทำให้เบื่อกัน หรือแยกกันหรือใครคนใดเสียชีวิต

7. ต้องเชิญผู้ใหญ่ก่อนทานข้าว


 10. ประเทศไทย (Thailand)

1. ไปศาสนสถานควรแต่งกายเรียบร้อย, ก่อนเข้าอุโบสถต้องถอดรองเท้า

2. ห้ามพระสงฆ์สัมผัสสตรี

3. สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสัการะ การละเมิดใดๆ ถือเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ

4. ทักทายกันด้วยการไหว้

5. ถือว่าเท้าเป็นของต่ำ ไม่ควรพาดบนโต๊ะ หรือเก้าอี้ หรือหันทิศทางไปที่ใคร

6. ธงชาติถือเป็นของสูง ไม่ควรนำมากระทำการใดๆที่เป็นการเหยียดหยาม

7. การแสดงออกทางเพศในที่สาธารณะ ยังไม่ได้รับการยอมรับในวัฒนธรรมไทย

วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การเรียนรู้ที่ใช้สมองเป็นพื้นฐาน (Brain-Based Learning : BBL)


กรุณา   หมวดมณี

ครูโรงเรียนวัดอภยาราม


การเรียนรู้ที่ใช้สมองเป็นพื้นฐาน หรือ BBL (Brain-Based Learning) คือการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของสมองแต่ละช่วงวัย เป็นการนำองค์ความรู้เรื่องสมองมาใช้เป็นฐานในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ของมนุษย์

เส้นทางสู่ความสำเร็จในกระบวนการพลิกโฉมโรงเรียน ป. 1 อ่านออก เขียนได้ ใน 1 ปี  ตามแนวทางการพัฒนาการทางสมอง  ด้วยกุญแจ 5 ดอก คือ

          กุญแจดอกที่ 1  สนามเด็กเล่น (Playground)

          กุญแจดอกที่ 2  ห้องเรียนเปลี่ยนสมอง (Brainy Classroom)

          กุญแจดอกที่ 3  พลิกกระบวนการเรียนรู้ (Learning Process)

          กุญแจดอกที่ 4  หนังสือเรียนและใบงาน (Book and worksheet)

          กุญแจดอกที่ 5  สื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ (Innovations)

กุญแจดอกที่ 1  สนามเด็กเล่น  (Playground)

           เปลี่ยนสนามเด็กเล่น เพื่อพัฒนาสมองน้อย และไขสันหลังให้แข็งแกร่ง ถ้าเด็กได้ออกกำลังกายร่างกายจะส่งเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ช่วยเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท ช่วยเพิ่มจำนวนเส้นเลือดฝอยในสมอง กระตุ้นสมองส่วนที่บันทึกความจำ คือ ฮิปโปแคมปัส ทำให้จดจำได้ดี ช่วยลดระดับคอร์ทิโซล(Cortisol) หรือสารแห่งความเครียด ช่วยให้สมองสร้างสารเซโรโทนิน(Serotonin) ที่มีบทบาทต่อการจดจำทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

1.1 จัดทำสนามที่มีฐานหลากหลาย ให้เด็กได้วิ่ง ปีน โหน ลอด กระโดด ฯลฯ ที่ต้องใช้ร่างกายเคลื่อนไหวทุกส่วนและมีวัสดุกันกระแทก

1.2 จัดเวลาให้เด็กได้เล่นสนาม/เคลื่อนไหว 20 นาทีต่อวัน

1.3 มีคุณครูคอยดูแลความปลอดภัย

1.4 ตรวจเช็คความปลอดภัยของสนามอย่างสม่ำเสมอ

กุญแจดอกที่ 2  ห้องเรียนเปลี่ยนสมอง (Brainy Classroom)

            ปลี่ยนห้องเรียน เพื่อเปลี่ยนสมองของเด็ก สิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ มีความเข้มข้น มีสีสัน จะช่วยกระตุ้นให้เด็กสามารถเรียนรู้และจดจำเนื้อหาที่เรียนได้ดีขึ้น

            2.1 เตรียมปรับเปลี่ยนห้องเรียนใหม่ โรงเรียนควรจัดให้มีวันทำความสะอาดครั้งใหญ่ “Big Cleaning Day” ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำความสะอาด

            2.2 ปรับสีผนังห้องเรียน สีสันกระตุ้นสมองทา

2.3 ปรับปรุงโต๊ะเรียนและเก้าอี้  ใช้สีโทนอ่อน กระตุ้นให้สมองเปิด พร้อมเรียนรู้

2.4 จัดให้มีมุมอ่าน(reading corner) ในห้องเรียน เพื่อสาร้างนิสัยรักการอ่าน

2.5 จัดให้มีบอร์ดความรู้ มีป้ายนิเทศ และพื้นที่แสดงผลงานของนักเรียน

            2.6 จัดแสดงผลงานนักเรียนเป็นประจำ เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียน

กุญแจดอกที่ 3 พลิกกระบวนการเรียนรู้ (Learning Process)

           ออกแบบกระบวนการเรียนรู้  โดยเข้าใจสมองของนักเรียน จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่กระตุ้นสมองน้อย สมองสองซีก และสมองทั้งสี่ส่วน เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพสูงสุด

3.1 ขั้นอุ่นเครื่อง(warm up) กระตุ้นสมองน้อย โดยใช้กระบวนการขยับกายขยายสมอง (brain-gym) ยืดเส้นยืดสาย (stretching)  กิจกรรมเคลื่อนไหว (movement)  โดยใช้บทเพลงและเกม

            3.2 ขั้นนำเสนอความรู้ (Present) นำเสนอความรู้ใหม่ผ่านสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ  เริ่มสอนจากของจริงใกล้ตัว ใช้บัตรภาพ บัตรคำ แถบประโยค เพื่อเสนอความรู้ หรือประเด็นต่างๆ ใช้กราฟ ชาร์ท ตาราง concept web แบบต่าง ๆ และควรใส่รหัสช่วยจำ (memory encoding) นำเสนอเนื้อหาและข้อมูลด้วยเทคนิคแปลกใหม่  ทำให้สมองติดตามการสอนตลอดเวลา แสดงภาพเคลื่อนไหวและเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต  เพื่อเชื่อมกระบวนการเรียนรู้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ในเนื้อหาที่จำเป็น

             3.3 ขั้นลงมือเรียนรู้ (Learn - Practice) ให้นักเรียนได้ลงมือทดลองใช้ความรู้ด้วยกิจกรรมต่างๆ นักเรียนได้ลงมือทำทุกคน ฝึกทำซ้ำๆ จนเข้าใจและมองเห็น pattern ขององค์ความรู้ชุดนั้น

            3.4 ขั้นสรุปความรู้ (Summary) การนำประสบการณ์ทั้งหมดมาสรุปยอด โดยใช้กระดานเคลื่อนที่ แสดงหัวข้อหรือประเด็นให้ชัดเจน แยกหมวดหมู่ข้อมูลให้ชัดเจน สรุปความรู้เป็นนามธรรม สรุปโดยใช้ graphic organizers เข้าช่วยกระตุ้นให้เกิดทักษะการคิด

กุญแจดอกที่ 4  หนังสือเรียนและใบงาน (Book and worksheet)

ใช้หนังสือเรียนและใบงาน ที่ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับการทำงานของสมอง เพื่อช่วยกระตุ้นสมองของนักเรียน ฝึกให้เด็กคิดทีละขั้นตอน และนำทักษะและความรู้ในแต่ละขั้น มาประกอบกันเป็นความเข้าใจ (concept) ในที่สุด

            4.1 จัดหาหนังสือเรียน และหนังสืออ่านที่ส่งเสริมทักษะการคิด สอดคล้องกับหลักสูตรเหมาะกับวัย น่าสนใจ น่าตื่นใจ น่าอ่าน มีภาพประกอบมากพอที่จะสร้างความเข้าใจให้แก่เด็ก และกระตุ้นผู้เรียนให้สนใจ อยากรู้ หนังสือเรียนมีการนำเสนอความรู้โดยใช้ตาราง แผนผัง แผนภาพ concept web ไดอาแกรม ฯลฯ ให้นักเรียนฝึกฝน เชื่อมโยงความรู้สู่การมีทักษะการคิดระดับสูง

            4.2 จัดทำใบงานตามหลักการBBL มีการออกแบบจากง่ายไปหายาก มีการออกแบบให้มีแบบฝึกแยกประเภท และมีการจัดระบบการเรียนรู้เป็นขั้นตอน  ทำให้เกิดการเรียนรู้ง่าย น่าสนใจ

กุญแจดอกที่ 5 สื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ (Innovations)

           ใช้สื่อและนวัตกรรมที่แปลกใหม่ น่าตื่นเต้น และมีสีสัน และมีจำนวนเพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคน เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยในการเรียนรู้ และกระตุ้นให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน พึงพอใจ เกิดความตั้งใจที่จะเรียนรู้เนื้อหาที่ซับซ้อน

            5.1 เลือกใช้สื่อของจริงสามมิติต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับประเด็นที่ต้องการสอน ครอบคลุม ตอบโจทย์ที่ต้องการครบถ้วน

            5.2 สถานที่และบริบทเหตุการณ์จริง เรื่องราวเป็นจำนวนมากที่นักเรียนจะต้องเรียน จำเป็นต้องเรียนจากเหตุการณ์จริง สถานที่จริง จึงจะเกิดผลดีต่อการเรียนรู้ เช่น เรียนรู้ในพื้นที่จริง ลงมือปฏิบัติจริง ทัศนศึกษา จำลองสถานการณ์

            5.3 กระดานเคลื่อนที่ ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวก ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียน คุณครูสามารถใช้กระดานเคลื่อนที่ในการนำเสนอความรู้ต่างๆ เช่น ติดบัตรคำ บัตรตัวอักษร ข้อมูลทางคณิตศาสตร์ ทำให้ข้อมูลน่าสนใจขึ้น

            5.4 บัตรคำ บัตรตัวเลข ชาร์ต เป็นสื่อการเรียนรู้ที่จำเป็นและมีค่ายิ่ง นักเรียนวัยประถมสนใจสื่อการเรียนรู้ทุกชนิดที่ครูจัดให้ เมื่อมีกระบวนการสอนพร้อมสื่อที่ดีแล้ว จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            5.5 ศูนย์สื่อและนวัตกรรม LRC เป็นที่จัดเก็บอุปกรณ์และสื่อที่พร้อมใช้ คุณครูวางแผนไว้ก่อนว่าจะใช้อุปกรณ์อะไรบ้างแล้วจัดซื้อนำมาเก็บไว้ จะแก้ปัญหาเรื่องครูไม่มีเวลาไปซื้อสื่อต่างๆ คุณครูเป็นผู้ออกแบบและผลิตสื่อการสอน เตรียมอุปกรณ์นักเรียนเป็นผู้ลงมือทำ จัดเตรียมสื่อการสอนให้ตรงกับเนื้อหาและประเด็นที่สอนรายบท ใช้แล้วนำกลับมาใช้ได้อีก

            การจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการทางสมอง (Brain-based Learning) จะมีส่วนช่วยให้นักเรียนสามารถพัฒนาความรู้ความเข้าใจตลอดจนพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียนให้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ได้รับการออกแบบเพื่อตอบสนองความแตกต่างของสมองในผู้เรียนในแต่ละวัย ซึ่งแนวปฏิบัติตามแนวคิดดังกล่าวครูผู้สอนสามารถนำไปใช้เป็นฐานคิดในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนในชั้นเรียน แต่ครูผู้สอนก็ยังคงต้องตระหนักว่าเนื่องจากเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งพัฒนาการทางสมองและบริบทของสังคมที่แวดล้อม  ดังนั้นคงไม่อาจใช้วิธีการสอนใดเพียงวิธีการเดียวได้ตลอดเวลา หากแต่ครูต้องวิเคราะห์และพิจารณาอย่างรอบคอบว่าควรจะนำหรือประยุกต์วิธีการสอนรูปแบบใดบ้าง เพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด


พรพิไล เลิศวิชา. แผนการสอนภาษาไทยประถมศึกษาตอนต้น. เชียงใหม่ : บริษัทธารปัญญา จำกัด

พรพิไล เลิศวิชา. เอกสารประกอบการบรรยาย พลิกโฉมโรงเรียนใน 1 ปี”. มปท. , 2557.

ข่าวการศึกษา