วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ฝึกสมาธิก่อนเรียน ช่วยให้การเรียนดีขึ้นอย่างไร

นางสุพรรษา  ย้อยรักษ์
                                                                                                                                บุคลกรวิทยาศาสตร์โรงเรียนวัดอภยาราม

การฝึกสมาธิในวัยเด็ก เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียน การฝึกสมาธิในวัยเด็ก  ไม่ใช่การฝึกเพื่อให้ได้สมาธิในระดับลึก แต่หมายถึงการฝึกเพื่อให้ได้สมาธิในระดับต้นถึงระดับกลาง ร่วมกับการมีสติสัมปชัญญะ (ความรู้ตัว) เพื่อให้เกิดความสนใจ ความจดจ่อ และความมุ่งมั่นให้อยู่กับเรื่องๆ เดียว ตามระยะเวลาที่ต้องการ
ทุกครั้งก่อนเข้าสู่บทเรียนในการเรียนการสอน ข้าพเจ้าจะให้นักเรียนนั่งสมาธิก่อนเรียนทุกครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนมีสมาธิในการเรียน ลดความฟุ้งซ่านในความคิดออกไป ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนน่าเรียน นักเรียนเองก็จะได้เรียนรู้อย่างเข้าใจมากขึ้น
   
        วิธีการฝึกสมาธิอย่างง่ายๆ ที่ครูควรแนะนำให้นักเรียนทำ

1. จัดท่าทางให้ถูกต้อง
         การนั่งที่ถูกต้องคือ ต้องนั่งตัวตรง หัวตรง เพราะร่างกายของเราสัมพันธ์กับจิตใจ หากนั่งตัวงอ จิตใจก็จะล่องลอยไป ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว แต่ไม่ต้องนั่งเกร็งมาก ให้นั่งเหมือนเรากำลังผ่อนคลายดีที่สุด
2. เปิดตานั่งสมาธิ
          บางครั้งการนั่งสมาธิ ไม่จำเป็นต้องหลับตาเสมอไป สามารถเปิดตาไว้ แต่ปรับระดับสายตาให้มองต่ำลง โดยกำหนดจุดให้เพ่งรวบรวมสมาธิไว้ เพราะบางคนเมื่อปิดตาแล้วกลับรู้สึกฟุ้งซ่าน ในหัวสมองเต็มไปด้วยเรื่องราวต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าวิธีใดทำแล้วได้ผลมากกว่ากัน
3. กำหนดรู้ลมหายใจ
          การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เป็นการกำหนดที่ตั้งของสติ เพื่อให้จิตเราอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น ๆ แต่เราไม่จำเป็นต้องไปบังคับการหายใจ แค่ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ
4. นับลมหายใจเข้า-ออก
          การนับลมหายใจเข้าออก เป็นวิธีปฏิบัติสมาธิมาตั้งแต่โบราณ โดยเมื่อหายใจออกให้เริ่มนับหนึ่งในใจ ต่อไปก็เป็นสองสามสี่ตามลำดับ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าความคิดของเรากำลังล่องลอยออกไปที่อื่น ให้กลับมาตั้งต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง เพื่อนำจิตกลับมาที่เดิม

5. ควบคุมความคิดไม่ให้เข้ามารบกวน
          เมื่อรู้สึกว่ากำลังมีความคิดเข้ามารบกวนจิตใจ ค่อย ๆขจัดความคิดเหล่านี้ออกไป โดยหันมาสนใจกับการกำหนดลมหายใจ อย่าพยายามหยุดความคิดในทันที เพราะมันจะทำให้คุณฟุ้งซ่านและไม่สามารถกลับเข้าสู่สมาธิได้อีก
6. ความเงียบบ่อเกิดแห่งความสงบ
          การนั่งสมาธิควรจะนั่งในที่เงียบ ๆ เพื่อทำจิตให้ว่าง ไม่ใส่ใจถึงบุคคล เสียง หรือสิ่งอื่นที่อยู่โดยรอบ เพราะความเงียบจะนำมาซึ่งความสงบเยือกเย็น และความรู้สึกมั่นคง เมื่อไหร่ก็ตามที่ความเงียบภายนอกและภายในประสานกันได้ ก็จะรู้สึกได้พักกายพักใจ ผ่อนคลายจากความคิดที่รบกวนอยู่ตลอดมา


การนั่งสมาธิจึงแป็นวิธีการหนึ่งที่สำคัญที่คุณครูควรนำมาใช้ เพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียนให้เกิดความสงบในจิตใจ ลดความฟุ้งซ่านและความคิดที่หลุดลอยออกไปได้ การที่เด็กมีสมาธิจดจ่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นั้น ก็จะส่งผลให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี มีประสิทธิภาพ เป็นระบบอย่างต่อเนื่องและครบวงจร ทั้งในด้านทักษะการฟัง การคิด การพูด การเขียน การอ่าน หรือการทำกิจกรรมที่มีผลต่อการเรียนรู้นั้นๆได้ค่ะ

จะสอนเด็กให้มีความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร

                                                                                                    โดย...นางวรรณี    เพ็งประไพ
ครูโรงเรียนวัดอภยาราม...

                ในการเรียนการสอนของครูจะประสบปัญหาในเรื่องนักเรียนคิดไม่เป็น ขาดทักษะทางการคิดโดยเฉพาะการเรียนเรื่องโจทย์ปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ  จึงได้ค้นคว้าหาวิธีที่จะทำให้นักเรียนได้มีความคิดเป็น  จึงได้พบกับเทคนิคการสอนให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์  และได้นำมาเผยแพร่เพื่อให้ผู้อื่นได้รับทราบและสามารถนำไปใช้กับลูกและนักเรียนได้  หัวใจสำคัญของการคิดสร้างสรรค์ ก็คือ การไม่จำกัดวิธีคิดในการทำ” ดังนี้

                1)   กระตุ้นเด็กเสมอว่า วิธีแก้ปัญหาโจทย์ที่ครูสอนไม่ได้เป็นวิธีเดียวที่ทำได้ เด็กสามารถคิดวิธีอื่นก็ได้ ถ้าเด็กทำวิธีอื่นมา ครูต้องตรวจสอบให้ด้วยว่าวิธีนั้นถูกต้องจริงหรือไม่
ในการสอบ ครูอาจจะอนุญาตให้เด็กคิดวิธีไหนก็ได้ หรืออาจจะจำกัดให้เด็กใช้วิธีที่เราสอนก็ได้ เพื่อตรวจสอบว่าเด็กเข้าใจเทคนิคหรือแนวคิดที่เราสอนหรือไม่ ตรงนี้ต้องชี้แจงเด็กให้ชัดเจนก่อนสอบ

               2)   เวลาสอนเด็กเราอาจสอนโดยใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง แต่เมื่อเด็กคิดวิธีใหม่ได้ถูกต้อง ให้พูดชมเสริมแรง เช่น   “เยี่ยมมากเลย”   “การทำวิธีนี้ ปกติคนอายุเท่ากับหนูจะคิดไม่ได้ ครูว่าหนูเก่งมากๆ”    และ
วิธีนี้พ่อไม่อยากเชื่อเลยว่าลูกของพ่อจะคิดได้ มันสุดยอดมากๆเป็นต้น ซึ่งคำพูดเหล่านี้จะทำให้เด็กรู้สึกดี กับวิชาคณิตศาสตร์ไปอีกนานหรือตลอดไป

              3)   เมื่อเด็กบอกคำตอบ หรือเขียนแสดงวิธีทำ ต่างจากเฉลยที่ผู้สอนมี ก็อย่ารีบตัดสินว่าเด็กทำผิด แต่อาจถามว่า ครูอยากรู้จังเลยว่าหนูคิดอย่างไร ช่วยทำให้ครูดูหน่อยได้ไหมวิธีนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงสิ่งที่เขาคิด เราอาจจะได้เจอวิธีหาคำตอบแบบใหม่ที่น่าสนใจ (เพราะโจทย์บางข้อมีคำตอบและวิธีคิดหลายแบบมาก     ในกรณีที่ชัดเจนแล้วว่าเด็กคิดคำตอบหรือแสดงวิธีทำผิด เราก็ไม่ควรพูดทำร้ายความรู้สึกเด็ก แต่ควรให้กำลังใจแทน เช่น   ลองคิดใหม่อีกสักทีไหม”    “ไม่เป็นไร คิดผิดนิดเดียวเอง
วิธีการที่หนูทำก็น่าสนใจนะ เพียงแต่มันใช้กับโจทย์ข้อนี้ไม่ได้ ลองวิธีอื่นดูนะ”   “เรื่องคิดผิดเป็นเรื่องธรรมชาติ ขนาดครูสอนคณิตครูก็ยังคิดเลขผิดได้เลย”   “จุดนี้เป็นจุดที่หนูทำยังไม่ถูก ซึ่งคนหลายคนก็มักจะทำผิด แม่เองก็เหมือนกัน ลองคิดใหม่อีกทีนะ”  สำหรับคำพูดที่ให้ความรู้สึกในทางลบไม่ควรนำมาใช้กับเด็ก อาทิ ทำผิดอีกแล้วนะ ทำไมโจทย์เลขง่ายๆ แค่นี้ หนูก็คิดไม่ได้หรอ

               4)   เอาโจทย์ที่เน้นความคิดสร้างสรรค์โดยตรงไปให้เด็กทำเสมอ ๆ ซึ่งอาจหามาจากหนังสือเกมหรือโจทย์คณิตศาสตร์ที่วางขาย หรือ โจทย์ลับสมอง”    ในกรณีที่ครูไม่สามารถหาโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่สอน ครูก็ยังให้โจทย์คณิตศาสตร์ทั่วไป โดยทำตอนต้นคาบเรียน หรือให้เด็กทำเป็นการบ้านแล้วเฉลยวิธีคิดในคาบถัดไป โดยให้เด็กที่ทำได้มาแสดงวิธีคิดให้เพื่อนดู แล้วคุณครูก็เสริมแรงโดยการพูดชื่นชมเขาต่อหน้าเพื่อนๆ

                สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว การได้แก้โจทย์คณิตศาสตร์แปลกๆ ท่านก็จะได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ไปด้วย

                                                         ที่มา    Dr.Noom MathLover         ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์ (อ.หนุ่ม)
                                                                      อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

สกุลเงินสมาชิกอาเซียน

..... นายพิพัฒน์  ทองต้ง 
ครูโรงเรียนวัดอภยาราม ....

                   ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทย และเพื่อนสมาชิกอีก 9 ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะถือเป็นตลาดเดียวกันเช่นเดียวสหภาพยุโรป เนื่องจากเกิดการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ดังนั้น เราในฐานะประชาชนคนหนึ่งของประคมอาเซียนจึงจำเป็นต้องรู้เรื่องต่าง ๆ ในประเทศสมาชิก ซึ่ง สกุลเงิน ที่ใช้เป็นอีกเรื่องที่เราจำเป็นต้องรู้  
                  สำหรับสกุลเงินที่ใช้กันในหมู่ของประเทศสมาชิกอาเซียน ทางประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ยังไม่มีแนวคิดที่จะใช้เงินสกุลเดียวกันเหมือนกับประชาคมยุโรป เนื่องจากหวั่นเกรงว่าจะประสบปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะและเศรษฐกิจยุโรปที่ เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กรีซและสเปน ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมีต้นตอมาจากการใช้สกุลเงินร่วมกัน (สกุลเงินยูโร) นั่นเอง  ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ ใช้สกุลเงิน  ดังนี้

1.              บรูไน ดารุสซาลาม
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ใช้สกุลเงิน ดอลล่าร์บรูไน
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลล่าร์บรูไน = 25.10 บาท
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบัน = 1 ดอลล่าร์บรูไน, 5 ดอลล่าร์บรูไน, 10 ดอลล่าร์บรูไน, 20 ดอลล่าร์บรูไน, 25 ดอลล่าร์บรูไน, 50 ดอลล่าร์บรูไน, 100 ดอลล่าร์บรูไน, 500 ดอลล่าร์บรูไน, 1,000 ดอลล่าร์บรูไน และ 10,000 ดอลล่าร์บรูไน
2.               ราชอาณาจักรกัมพูชา
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ใช้สกุลเงิน เรียล
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif อัตราแลกเปลี่ยน 150 เรียล = 1 บาท
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบัน = 50 เรียล, 100 เรียล, 500 เรียล, 1,000 เรียล, 2,000 เรียล, 5,000 เรียล, 10,000 เรียล, 20,000 เรียล, 50,000 เรียล และ 100,000 เรียล
3.               สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ใช้สกุลเงิน รูเปียห์
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif อัตราแลกเปลี่ยน 1,000 รูเปียห์ = 3.95 บาท
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบัน = 1,000 รูเปียห์, 2,000 รูเปียห์, 5,000 รูเปียห์, 10,000 รูเปียห์, 20,000 รูเปียห์, 50,000 รูเปียห์ และ 100,000 รูเปียห์
4.              สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ใช้สกุลเงิน กีบ
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif อัตราแลกเปลี่ยน 1,000 กีบ = 4.05 บาท
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบัน = 500 กีบ, 1,000 กีบ, 2,000 กีบ, 5,000 กีบ, 10,000 กีบ, 20,000 กีบ และ 50,000 กีบ
5.              มาเลเซีย
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ใช้สกุลเงิน ริงกิต
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif อัตราแลกเปลี่ยน 1 ริงกิตมาเลเซีย = 10.40 บาท
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบัน = 1 ริงกิต, 5 ริงกิต, 10 ริงกิต, 20 ริงกิต, 50 ริงกิต และ 100 ริงกิต
6.              สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ใช้สกุลเงิน จ๊าด
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif อัตราแลกเปลี่ยน 1 จ๊าด = 5 บาทไทย
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบัน = 1 จ๊าด, 5 จ๊าด, 10 จ๊าด, 20 จ๊าด, 50 จ๊าด, 100 จ๊าด, 200 จ๊าด, 500 จ๊าด, 1,000 จ๊าด, 5,000 จ๊าด และ 10,000 จ๊าด
7.              สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ใช้สกุลเงิน เปโซ
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif อัตราแลกเปลี่ยน 1.40 เปโซ = 0.78 บาท
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบัน = 20 เปโซ, 50 เปโซ, 100 เปโซ, 200 เปโซ, 500 เปโซ และ 1,000 เปโซ
      8. สาธารณรัฐสิงคโปร์
             http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ใช้สกุลเงิน ดอลล่าร์สิงค์โปร์
            
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลล่าร์สิงคโปร์ = 24.40 บาท
            
http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบัน = 2 ดอลล่าร์สิงค์โปร์, 5 ดอลล่าร์สิงค์โปร์, 10 ดอลล่าร์สิงค์โปร์, 50 ดอลล่าร์
             สิงค์โปร์, 100 ดอลล่าร์สิงค์โปร์, 1,000 ดอลล่าร์สิงค์โปร์ และ 10,000 ดอลล่าร์สิงค์โปร์
    9. ราชอาณาจักรไทย
            http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ใช้สกุลเงิน บาท
            http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบัน = 20 บาท, 50 บาท, 100 บาท, 500 บาท และ 1,000 บาท
   10. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
            http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ใช้สกุลเงิน ด่ง
            http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif อัตราแลกเปลี่ยน 900 ด่ง = 1.64 บาทไทย
            http://hilight.kapook.com/img_cms2/dookdik/ann56.gif ธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบัน = 100 ด่ง, 200 ด่ง, 500 ด่ง, 1,000 ด่ง, 2,000 ด่ง, 5,000 ด่ง, 10,000 ด่ง,
                 20,000 ด่ง 50,000 ด่ง, 100,000 ด่ง, 200,000 ด่ง และ 500,000 ด่ง
         
 หมายเหตุ : ข้อมูลโดยอัตราแลกเปลี่ยนข้างต้นเป็นประมาณการซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน
         อ้างอิงจาก.....การเรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ใส่ใจ...เข้าใจ...จับใจความ

...นางกรุณา  หมวดมณี
ครูโรงเรียนวัดอภยาราม...

                ใกล้สอบ...ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ  (O-NET)  ปลายเดือนกุมภาพันธ์  การสอบเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  ในโรงเรียนยอดนิยมกลางเดือนมีนาคม  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  6  เนื้อหาสาระทางวิชาการและข้อมูลต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันต้องอาศัยการอ่าน  จึงจะสามารถเข้าใจและสื่อความหมายกันได้ถูกต้อง การแสวงหาความรู้นั้น  ทักษะการอ่านเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญที่สุด การอ่านเป็นการส่งเสริมให้เกิดความคิด ความฉลาด รอบรู้และประสบการณ์ตรงแก่ผู้เรียน การอ่านมีความสำคัญมากในชีวิตประจำวันของผู้ที่ใฝ่ศึกษาหาความรู้ทั้งยังช่วยให้จิตใจมีความสุขและเพลิดเพลินอีกด้วย ดังที่วรรณี โสมประยูร (2539 : 120) กล่าวว่าแม้จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดต่อสื่อสารก็ไม่สามารถทดแทนการอ่านได้ ตรงกันข้ามคนในยุคนี้กลับจะต้องอ่านเพิ่มขึ้นเสียอีก ฉะนั้นคนเราจำเป็นต้องมีทักษะในการอ่าน 

ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทักษะสำคัญในการเรียน คือ การอ่าน เพราะเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตประจำวัน  โดยเฉพาะในการศึกษาหาความรู้ การติดต่อสื่อสาร การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่  การอ่านเป็นเครื่องมือในการรับข้อมูลข่าวสาร ครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องวางแผน จัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนเป็นนักอ่านที่ดี โดยเฉพาะสำหรับสังคมไทย เมื่อออกจากโรงเรียนไปทักษะการอ่าน เป็นทักษะที่จะต้องใช้มากที่สุดในชีวิตประจำวัน เพราะการอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำไปสู่ความรู้ทั้งปวง ทำให้ได้รับรู้ข่าวสาร ช่วยเสริมสร้างความคิดและประสบการณ์ (ดุษฎี  นาหาร, 2553)

การอ่านที่ดีมีประสิทธิภาพนั้นมิใช่แต่เพียงผู้อ่านสามารถอ่านออกเสียงได้ถูกต้อง อ่าน รวดเร็ว หรือจดจำเรื่องที่อ่านได้เท่านั้นสิ่งสำคัญอยู่ที่ผู้อ่านจะต้อง ความเข้าใจ” (Comprehension) ในเรื่องราวหรือสาระสำคัญของเนื้อหาที่อ่านด้วย เมื่อผู้อ่านเกิดความเข้าใจในสิ่งที่อ่านแล้วสามารถ นำสิ่งที่ตนอ่านจนเกิดความเข้าใจไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการศึกษาเล่าเรียนได้ ความเข้าใจเนื้อหาสาระที่อ่านจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากการอ่านมิใช่เป็นเพียงการ ตีความหมายจากตัวอักษรเท่านั้น แต่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวอักษรและกระบวนการภายในสมอง ผู้อ่านต้องใช้ความคิดเพื่อสร้างความหมาย โดยนำเอาความรู้ประสบการณ์เดิมที่มีอยู่เกี่ยวกับ เรื่องที่อ่านออกมาช่วยทำความเข้าใจเรื่องราวที่อ่าน และความเข้าใจที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นจากการที่ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงพื้นฐานความรู้เดิมให้สอดคล้องกับข้อมูลที่อ่านได้ (Ediger, 2001) ซึ่งทักษะการอ่านและกลวิธีการอ่านเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการอ่านเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เนื่องจากผู้อ่านต้องใช้ความคิดแก้ปัญหาหรือให้เหตุผลโดยใช้การวิเคราะห์ จำแนก ตัดสิน ประเมิน และ สังเคราะห์สิ่งที่อ่านให้เกิดความเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์ (Hayashi, 1999)
                การสอนอ่านแบบ SQ4R เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ได้รับการ พัฒนาบนพื้นฐานแนวคิดการเรียนการสอนภาษา  จากทฤษฎีอภิปัญญา (Metacognitive theory) ซึ่ง เป็นแนวคิดหนึ่งของจิตวิทยาการเรียนรู้  อภิปัญญากับการอ่านนั้นหมายถึง วิธีการ ขั้นตอนที่จะทำให้การอ่านบรรลุตามเป้าหมาย มีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วนคือ ความตระหนักรู้ และการควบคุม กลไกที่ใช้ในกระบวนการสอนอ่าน ในขณะเดียวกันการสอนอ่านแบบ SQ4R ส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้ ทฤษฎีโครงสร้างความรู้ เพราะโครงสร้างความรู้มีหน้าที่ช่วยให้ผู้อ่านค้นหา เลือกข้อมูลที่ต้องการ หาคำตอบ และยังช่วยตีความเรื่องราวที่อ่าน หากมีข้อมูลบางส่วนหายไปการใช้โครงสร้างความรู้จะช่วยทบทวนข้อมูลจากความทรงจำของตนเอง เพื่อทำให้เรื่องราวที่ขาดหายไปสมบูรณ์ (พัชชา กรีรัมย์, 2555)
                การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ SQ4R หมายถึง การออกแบบกระบวนการจัดกิจกรรม
การเรียนที่เน้นให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในการอ่าน โดยให้ผู้เรียนใช้ความสามารถในการคิดขณะอ่าน
เพื่อพัฒนาความเข้าใจในการอ่าน ซึ่งประกอบด้วย  6  ขั้นตอน ดังนี้
                1) ขั้นสำรวจ (Survey) ผู้สอนให้นักเรียนสำรวจเรื่องราวที่ได้อ่านอย่างคร่าว ๆ  เพื่อหาจุดสำคัญของเรื่อง การอ่านขั้นนี้ไม่ควรใช้เวลานานเกินไป
                2) ขั้นตั้งคำถาม (Question) ผู้สอนควรตั้งคำถามเกี่ยวกับบทอ่านกับนักเรียน  เพื่อฝึกการตอบคำถาม คำถามจะช่วยให้ผู้อ่านมีความอยากรู้อยากเห็น และทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้เร็ว
                3) ขั้นอ่าน (Read) การอ่านข้อความในบทหรือตอนนั้น ๆ ซ้ำอย่างละเอียดและในขณะเดียวกันก็ค้นหาคำตอบสำหรับคำถามที่ได้ตั้งไว้ ในขั้นนี้เป็นการอ่านเพื่อจับใจความสำคัญโดยแท้จริง และตอบคำถามที่ตั้งไว้
                4) ขั้นบอกคำตอบอีกครั้ง (Record) เมื่อได้คำตอบแล้วให้ผู้เรียนจดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้อ่านจากขั้นตอนที่ 3 โดยใช้ภาษาของตนเองเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นและสามารถจำคำตอบนั้นได้ โดยคำตอบนั้นต้องคงความหมายเดิมของเรื่องเอาไว้
                5) ขั้นสรุปใจความสำคัญ (Recite) ให้ผู้เรียนเขียนสรุปใจความสำคัญซึ่งประกอบด้วยใจความหลักและใจความรอง โดยพยายามใช้ภาษาของตนเอง ถ้ายังไม่แน่ใจบทใดหรือตอนใดให้กลับไปอ่านซ้ำใหม่
                6) ขั้นทบทวน (Reflect) ให้ผู้เรียนวิเคราะห์ วิจารณ์ บทอ่านที่ผู้เรียนได้อ่านแล้วแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ผู้เรียนมีความคิดเห็นสอดคล้องหรือความคิดเห็นไม่สอดคล้องเป็นการทบทวนเรื่องที่อ่านทั้งหมด ในขั้นตอนนี้เป็นการตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียนว่าจดจำหรือเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดได้มากน้อยแค่ไหน หากส่วนไหนที่ยังจดจำไม่ได้ก็กลับไปอ่านซ้ำและทบทวน  ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจแนวคิดที่ชัดเจนและมีความคงทนในการจดจำอีกด้วย

                การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ SQ4R นั้นจะช่วยสร้างนิสัยการอ่านที่ดีและมีประสิทธิภาพในการอ่านได้ดี  จะทำให้การอ่านมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนว่าต้องการอะไรหลังการอ่าน อ่านแล้วอาจจะจับจุดสำคัญหรืออ่านไปแล้วใช้จุดมุ่งหมายเหมือนกับการเหวี่ยงแห ไม่รู้ว่าจะจับอะไร ได้อะไรหรือไม่ แต่ถ้ามีการใช้คำถามจะช่วยให้ผู้เรียนได้แนวคิดจากคำถามและพยายามหาคำตอบเมื่อผู้สอนถาม ดังนั้น การใช้คำถามจึงเป็นแนวทางที่จะทำให้ผู้เรียนอ่านอยู่ในขอบเขตที่ตั้งไว้ แล้วจะทำให้เข้าใจดีขึ้นเมื่อผู้เรียนได้รับการฝึกฝนจนคล่องแคล่วและชำนาญแล้ว ผู้เรียนสามารถใช้ทักษะการอ่านกับการอ่านตำราเรียนวิชาอื่น ๆ ได้หรือการอ่านสื่อในชีวิตประจำวันได้ถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สมบูรณ์อีกรูปแบบหนึ่ง  เพื่อเตรียมตัวสอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก่อนก้าวสู่อนาคตที่วาดหวังไว้ 

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

คุณครู...ช่วยหนูด้วย !

....ครูสุพรรณี  บัวเนียม
โรงเรียนวัดอภยาราม.....

“คุณครู  ช่วยหนูด้วย  หนูกินกล้วยอยู่บนหลังคา....” ยังจำบทร้องเล่นสมัยเด็กๆ กันได้หรืไม่  ร้องเล่นทีไรสนุกทุกที  แต่สำหรับเด็กนักเรียนส่วนหนึ่งในปัจจุบันนี้ คงร้องขอความช่วยเหลือจริง ๆ  ที่เกิดจากความทุกข์ของตัวเขาเอง
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ ดิฉันได้ประสบปัญหา การเรียนการสอนกับนักเรียนสมาธิสั้นมาตลอด และนับวันจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งจากการสอบถามนักเรียนเหล่านี้ ตัวเขาเองพยายามที่จะตั้งใจเรียนเหมือนกับเพื่อนคนที่ปกติ แต่เขาก็มีความอดทนได้แค่นั้น  ดิฉันได้พยายามคิดแก้ปัญหาว่าจะช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะหลายคนนับว่าถ้าตั้งใจเรียนแบบมีสมาธิที่คงทน ก็จะมีผลการเรียนที่ดีเหมือนกัน  ดิฉันทดลองให้นักเรียนกลุ่มสมาธิสั้นมานั่งเรียนด้านหน้า ใกล้ดิฉัน เมื่อนักเรียนเริ่มอยู่ไม่นิ่งจะเรียกชื่อเพื่อเตือนสติให้ตั้งใจเรียนต่อ ทำอย่างนี้อยู่บ่อยๆ ได้ผลดี  แต่ครูจะเหนื่อย กับการต้องปรับสมาธิในการสอนเหมือนกัน ส่วนนักเรียนที่ตั้งใจเรียนก็จะเบื่อกับการเบรกในการเรียนที่ต่อเนื่อง เป็น สัจธรรมชีวิตจริง ๆ ดังที่ผู้รู้เคยกล่าวไว้ว่า “ในดีมีเสีย ในเสียมีดี  ” และจากการที่พยายามศึกษาและคิดแก้ไขปัญหาเด็กสมาธิสั้นไปตามสภาพนี่เอง ดิฉันก็ได้มีโอกาสอ่านเจอเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กสมาธิสั้นและวิธีแก้ปัญหาให้กับเด็กเหล่านี้ โดย พญ.นิดา  ลิ้มสุวรรณ  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล  น่าสนใจมากค่ะ เพราะประเด็นความรู้ตรงกับเหตุการณ์ที่ดิฉันได้กล่าวมาข้างต้นทั้งสิ้น  จึงนำมาฝากเพื่อนครูที่พบปัญหาและอยากช่วยเหลือเด็กเหล่านี้เหมือนกับดิฉันบ้าง ดังนี้
    “โรคสมาธิสั้น”  เรียกย่อ ๆ ว่า ADHD  มาจาก  Attention  Deficit  Hyperactivity  Disorder  ซึ่งในปัจจุบันเราพบว่ามีเด็กวัยเรียนทั่วโลกเป็นโรคสมาธิสั้นประมาณร้อยละ 7 หมายความว่า  ในเด็กวัยเรียน  100  คน  จะพบโรคสมาธิสั้น  7 คน ถ้าในห้องเรียนมีนักเรียนประมาณ  40-50 คน  ก็จะมีเด็กสมาธิสั้น  2-3  คน  อาการหลักของเด็กสมาธิสั้นมี 3 ด้าน คือ
1. อยู่ไม่นิ่ง  ซน  ยุกยิก  กระสับกระส่าย  มืออยู่ไม่สุข  อยู่นิ่งไม่ได้  ต้องขยับตลอด  นั่งไม่ติดที่  ชอบเดินมา  ชอบวิ่ง  ไม่เดิน  ชอบปีนป่าย  เล่นผาดโผน  เล่นแรง  เล่นได้ไม่เหนื่อย  พูดเก่ง  พูดเร็ว  พูดไม่หยุด  พูดไปเรื่อยๆ หุนหันพลันแล่น  รอคอยไม่ได้  คิดอะไรจะทำทันที  เหมือนรถมีเบรก  พูดสวน  พูดทะลุกลางปล้อง  ตอบก่อนผู้ถามจะถามจบ
2. ถ้าต้องทำอะไรที่ซ้ำๆ หรือนาน จะไม่อยากทำ  หรือไม่อดทนพอที่จะทำสิ่งนั้น  ไม่มีสมาธิ  ทำงานตกหล่น  สะเพร่า  เหม่อลอย  ขี้ลืม
3. ทำของหายบ่อยๆ ทำอะไรนานๆ ไม่ได้  เปลี่ยนกิจกรรมบ่อยๆ ทำงานไม่เสร็จ วอกแวกง่าย อะไรผ่านก็หันไปมองเหมือนไม่ได้ฟังเวลามีคนพูดด้วย
สาเหตุของโรคนี้  ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม  ถ้ามีพ่อหรือแม่ 1 คน เป็นโรคสมาธิสั้น  พบว่าลูกจะเป็นโรคนี้ร้อยละ 57 รวมทั้งปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น มารดาสูบบุหรี่  หรือใช้สารเสพติดช่วงตั้งครรภ์  น้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์  รวมทั้งได้รับพิษจากสารตะกั่ว
โรคที่มักพบร่วมกับโรคสมาธิสั้น  เช่น  โรคการเรียนรู้บกพร่อง  หรือ  Learning Disorder (LD) พบร่วมกับโรคสมาธิสั้นได้ถึงร้อยละ 30 ปัญหาพฤติกรรมดื้อต่อต้าน  ไม่ทำตามสั่ง  โรคกล้ามเนื้อกระตุก (Tics) โรควิตกกังวล  ในเด็กที่มีโรค LD ร่วมด้วยจะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้  เขียนหนังสือไม่ถูก  สับสนเวลาสะกดคำ  อ่านหนังสือไม่คล่อง  อ่านตะกุกตะกัก  หรืออ่านข้ามคำที่อ่านไม่ออกไปเลย  ไม่เข้าใจการคิดคำนวณเลข  สับสนเวลาต้องคิดคำนวณเลข
ทั้งนี้ การแก้ไขหรือรักษา  ช่วยเหลือดูแลเด็กที่เป็นสมาธิสั้น  จะต้องเกี่ยวข้องกันหลายฝ่าย  ทั้งตัวเด็กเอง  ผู้ปกครองและครูที่ดูแลเด็กที่โรงเรียน  นอกจากนั้นการรักษาจำเป็นต้องใช้หลายวิธีผสมผสานกัน  ในการดูแล  เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด  นอกจากนี้แล้ว  ยังมีการรักษาด้วยยา  ยาเพิ่มสมาธิ มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง  โดยเฉพาะยาในกลุ่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท  เช่น  Methylphenidate  จะสามารถลดอาการทั้ง 3 ด้านได้โดยตัวยาเข้าไปกระตุ้นให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทเพิ่มมากขึ้น  และการรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม  ทั้งผู้ปกครอง  และครูสามารถใช้การปรับพฤติกรรมช่วยเด็กได้  อาทิ  จัดสถานที่ให้เหมาะสมก่อนเริ่มกิจกรรม  อย่างการเรียนในห้องเรียน  เราไม่ควรให้เด็กนั่งใกล้หน้าต่าง  ประตู  หรือเพื่อนที่มักจะชวนคุย  เพราะจะทำให้วอกแวกได้ง่าย  ถ้าเป็นไปได้ควรให้นั่งแถวหน้าใกล้กระดาน  หรือใกล้ๆ ครูผู้สอน
ขณะที่อยู่บ้าน  เราก็ควรปิดโทรทัศน์หรืออินเทอร์เน็ตเพื่อให้เด็กได้ใช้เวลาทำการบ้านอย่างมีสมาธิ  และควรจัดโต๊ะที่ทำการบ้านให้อยู่ในห้องที่สงบหรือหันหน้าเข้ากำแพง  การตั้งกฎกติกาและสื่อสารกับเด็กให้ชัดเจน  เช่น  ทำการบ้านให้เสร็จก่อน  จึงจะสามารถไปเล่นได้  ถ้าทำการบ้านเลขเสร็จ  10 ข้อ  แล้วจะได้พักดูการ์ตูน  1 ตอน  เป็นต้น  ด้านกิจกรรม  ควรแบ่งขั้นตอนในการทำให้งานแต่ละอย่างออกเป็นขั้นย่อยๆ แล้วให้เด็กค่อยๆ ทำไปทีละขั้น  เช่น  เด็กปกติสามารถทำการบ้าน  20  ข้อ  เสร็จได้รวดเดียว  แต่เด็กสมาธิอาจต้องแบ่งเป็นทำครั้งละ  10  ข้อ แล้วไปพักเปลี่ยนอิริยาบถก่อน  จึงกลับมาทำต่ออีก  10  ข้อ  เป็นต้น  การให้สัญญาณเตือนเมื่อเด็กวอกแวกหรือเสียสมาธิ  อาจต้องช่วยด้วยการส่งสัญญาณเตือน  เช่น  การเรียกชื่อ  หรือเรียกให้เด็กเปลี่ยนกิจกรรม  ในห้องเรียนอาจให้ออกมาช่วยครูลบกระดาน  หรือแจกสมุด  แล้วจึงให้กลับไปทำกิจกรรมเดิมต่อ  ข้อควรระวัง คือ จะต้องไม่แสดงท่าทีไม่พอใจ  หรือรำคาญในการเตือนหลังการทำกิจกรรม
สำหรับการให้รางวัลหรือการชมเชย  เมื่อทำงานสำเร็จควรให้การชมเชย  เพื่อเป็นแรงเสริมทำให้เด็กอยากประสบความสำเร็จในการทำสิ่งนั้นอีก  หรืออาจให้รางวัลเป็นสัญลักษณ์ของการชื่นชม  เช่น  ให้สติกเกอร์ติดสมุดเมื่อทำการบ้านเสร็จ  การให้การชมเชยถือเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
หวังว่าบทความนี้ คงจะสามารถช่วยคุณครูให้นำความรู้ไปปรับใช้ในการแก้ปัญหานักเรียนสมาธิสั้นได้ตามบริบทของตนเอง   เพื่อเด็กๆ เหล่านี้ซึ่งรอคอยความหวังจากคุณครูอย่างพวกเรา ที่ไม่เคยทอดทิ้งพวกเขา...เด็กสมาธิสั้น...และดิฉันเชื่อว่า หัวใจอันบริสุทธิ์ของพวกเขา อยากจะร้องขอกับครูของพวกเขาว่า  “คุณครู....ช่วยหนูด้วย!”
แหล่งข้อมูล :  MyFirstBrain.Com

ข่าวการศึกษา