วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

การเรียนรู้ทางการเมือง

รวบรวมโดย.......นายพิพัฒน์ ทองต้ง

ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนวัดอภยาราม

อ้างถึงข้อเขียนของ....เยาวภา ประคองศิลป์.

        การเรียนรู้ทางการเมือง จากวัยเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ตามช่วงอายุ ดังนี้

        วัยเด็กตอนต้น (อายุ 5-9 ปี) สังคมแรกที่เด็กสัมผัสคือ ครอบครัว เมื่อออกจากครอบครัว เด็กจะได้สัมผัสกับสังคมภายนอก เช่น โรงเรียนช่วงนี้เด็กเริ่มรู้จักสัญลักษณ์ของชาติ เช่น ธงชาติ ถือได้ว่าเป็นช่วงแรกที่เกิดความรู้สึกทางการเมืองและสามารถเรียนรู้ทางการเมืองได้รวดเร็วมากแต่ยังไม่ลึกซึ้ง กระบวนการอบรมกล่อมเกลาในระยะแรก มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป การพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยในเด็กระดับนี้ควรเน้นที่อารมณ์ ความรู้สึก เจตคติ และจิตใจมากกว่าด้านความรู้ ฉะนั้นในการเรียนทุกๆ เรื่อง ทุกๆ วิชา จะต้องมีจุดประสงค์ในการสร้างบุคลิกภาพและวัฒนธรรมประชาธิปไตย เช่น เรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิของผู้อื่นเรียนรู้ที่จะแบ่งปันผลประโยชน์กับเพื่อน เรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีม เป็นหมู่คณะ การเป็นผู้นำที่เสียสละ การเป็นผู้ตามที่เคารพในกติกา และรับนโยบายของกลุ่มไปปฏิบัติด้วยความเต็มใจ การเรียนรู้ที่จะแสดงความคิดเห็นที่มีเหตุผล การรับฟัง การวิพากษ์วิจารณ์ และรู้จักการวิพากษ์วิจารณ์ที่ดีเป็นต้น (วิชัย ตันศิริ, 2539)

        วัยเด็กตอนปลาย (อายุ 9-13 ปี) ความคิดความเข้าใจการเมืองจะก้าวไปสู่ลักษณะคล้ายผู้ใหญ่ เป็นก้าวสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ทางการเมือง โดยเฉพาะเด็กอายุ 10-11 ปี จะเริ่มเข้าใจการเมืองในลักษณะนามธรรม (abstract ideas) มีความคิดที่สัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบมากขึ้น เด็กสามารถแยกบทบาททางการเมืองของบุคคลได้และมีความรู้ข่าวสารการเมืองเพิ่มขึ้น เด็กอายุ 11-13 ปี จะเข้าใจระบบการเมืองรอบๆ ตัวไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่มากนัก (สุรวุฒิ ปัดไธสง, 2528)

        วัยรุ่น (adolescence) (อายุ 13-18 ปี) เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทั่ว ๆ ไป ด้านกายภาพ จิตภาพ และสังคม การเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ วัยรุ่นมีความต้องการอิสระจากครอบครัว สัมพันธภาพกับครอบครัวน้อยลงแต่กลับไปมีสัมพันธภาพกับกลุ่มเพื่อนมากขึ้น ความสัมพันธ์แบบนี้หาไม่ได้ในครอบครัว เพราะในครอบครัวมีความสัมพันธ์กันแบบเบื้องบนลงสู่เบื้องล่าง (top-down) แต่ในกลุ่มเพื่อนเป็นความสัมพันธ์แบบแนวราบ (horizontal) ซึ่งเป็นการลดช่องว่างในครอบครัว Joseph Adelson (อ้างถึงใน สุรวุฒิ ปัดไธสง, 2528) ได้วิจัย พบว่า วัยรุ่นอายุ 12-18 ปี มีรูปแบบการเรียนรู้ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ

        1. รูปแบบการรับรู้ เมื่อก่อนอาจเรียนรู้ทางการเมืองจากโรงเรียน ครอบครัว เมื่ออยู่ในวัยรุ่นอาจเรียนรู้การเมืองโดยการทำกิจกรรมทางการเมืองกับวัยรุ่นด้วยกัน

        2. ทัศนภาพแบบอำนาจนิยมที่มีต่อระบบการเมืองลดลง กล่าวคือ มองเห็นว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของการให้อำนาจเป็นใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว แต่เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลประนอมประโยชน์ หรือจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าในสังคมให้สมาชิกเกิดความพอใจ

        3. มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุอุดมคติทางการเมืองของตน

        วัยรุ่นเป็นวัยที่แสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ดังนั้น การเรียนรู้ในโรงเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถจัดการเรียนการสอนเรื่องการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้โดยตรง ปัจจุบันหลักสูตรวิชาสังคมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ก็เน้นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเรื่องสิทธิหน้าที่ของพลเมือง การเรียนรู้การเมืองการปกครองในโรงเรียน นอกจากจะสอนเนื้อหาโดยตรงแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ หลายอย่างที่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยให้แก่นักเรียนอีกด้วย วิชัย ตันศิริ (2539) ได้ให้แนวความคิดไว้ว่า การสอนการเมืองการปกครองในโรงเรียนนั้น นอกจากจะสอนระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยจากหลักของกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องพรรคการเมืองและการเลือกตั้งแล้ว ควรจะสอนจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในการเมืองไทย ควรได้มีการศึกษาวิเคราะห์ระบบการเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมือง โดยเปรียบเทียบไทยกับต่างประเทศ ระบบกลุ่มผลประโยชน์ การดำเนินงานของรัฐสภาและพฤติกรรมของนักการเมือง ตลอดจนบทบาทของประชาชน นักวิชาการ สื่อมวลชน ต่อการพัฒนาการเมือง เป็นต้น การเรียนการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 ในด้านการศึกษาทางสังคมศาสตร์ ควรเน้นไปที่การพัฒนาความคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนมีวิสัยทัศน์กว้าง มีความรู้ ความคิดลึก สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้ การสอนจะเน้นในเชิงปรัชญาการเมืองและสังคม ดังนั้นผู้เรียนจะต้องมีความสามารถในเชิงวิเคราะห์ การเรียนการสอนต้องฝึกให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ เช่น ความเสมอภาค เสรีภาพ ความยุติธรรม ฯลฯ เพื่อให้เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์แบบนักปรัชญา

        วัยผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) เป็นวัยที่มีพฤติกรรมทางการเมืองจากพื้นฐานที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยเด็ก การอบรมกล่อมเกลาทางการเมืองให้เด็กตั้งแต่ต้น เป็นการกำหนดพฤติกรรมทางการเมืองในวัยผู้ใหญ่ต่อมา มีหลักฐานการวิจัยยืนยันว่า การเรียนรู้ทางการเมืองที่เด็กเรียนรู้ระหว่างอยู่ในช่วงของการเรียนตอนต้น ๆ มักจะมีผลต่อพฤติกรรมทางด้านการเมือง ตอนเป็นผู้ใหญ่มากกว่าแนวความคิดและทัศนะที่บุคคลเรียนรู้ในช่วงหลังของชีวิต (สถิต นิยมญาติ, 2524)

        จากข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้เขียนนำมาเสนอไว้ในบทความนี้เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น ที่ครูผู้สอนในโรงเรียนควรให้ความสนใจ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการถ่ายทอดการเรียนรู้ทางการเมืองการปกครองไปสู่เยาวชนของชาติ สมดังความคาดหวังของสังคมที่เชื่อมั่นว่าสถาบันการศึกษาเป็นสถาบันที่มีบทบาทอย่างสูงยิ่งต่อการพัฒนาทางการเมืองการปกครองของประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แม้ว่าเป้าหมายนี้ไม่อาจสำเร็จได้เพียงชั่วเวลาข้ามคืน แต่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความเข้าใจ ความพยายาม ความอดทน และเวลาที่ต่อเนื่องเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพราะกระบวนการศึกษาในระบบสามารถเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งสามารถกระทำได้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาต่อเนื่องไปสู่ระดับมัธยมศึกษา ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา โดยการจัดเนื้อหาสาระให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนในระดับต่าง ๆ และเน้นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่เป็นรูปธรรมตามอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่พึงประสงค์ ขณะเดียวกันก็ฝึกปฏิบัติในกิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อหล่อหลอมให้นักเรียนนักศึกษาได้ซึมซับคุณค่าของประชาธิปไตย จนก่อให้เกิดวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยได้ในที่สุด

..............................................

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สอนคณิตศาสตร์ให้ลูก

                                                                                      โดย ครูช่อแก้ว วงษ์ตั้นหิ้น

          เมื่อพูดถึงคณิตศาสตร์ หลายคนส่ายหน้า บอกว่าไม่ชอบ ไม่เข้าใจ ยาก ตอนสอบก็เกือบตกความจริงแล้วจะไปโทษเด็กหรือโทษคนไม่ชอบคณิตศาสตร์ก็คงไม่ได้ ต้องโทษระบบการศึกษาของเรา ที่ไม่มีครูคณิตศาสตร์เพียงพอ บางคนบอกว่าครูสอนคณิตศาสตร์เป็นใครก็ไม่รู้ บางทีก็เอาครูสาขาอื่น ๆ มาสอน จึงไม่สามารถอธิบายให้เด็กเข้าใจได้ เมื่อไม่เข้าใจแต่ต้น ยิ่งเรียนสูงก็ยิ่งไม่เข้าใจ ยิ่งไม่เข้าใจก็ยิ่งเบื่อ ยิ่งเบื่อก็ยิ่งไม่อยากเรียน ก็เลยพาลไม่ชอบไปเลย แต่นี่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหา การที่จะให้เด็ก ๆ ชอบคณิตศาสตร์นั้น นอกจากครูต้องมีเทคนิควิธีการแล้ว การเห็นคุณค่าว่าคณิตศาสตร์สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันก็เป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน

          ความจริงคณิตศาสตร์เป็นเรื่องสนุก คณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องตัวเลขที่หลายคนลายตา หัวใจของคณิตศาสตร์สอนให้คนรู้จักคิด มีเหตุมีผล รู้ประมาณ รู้ขอบเขต รู้ว่าอะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ คณิตศาสตร์สอนให้คนมองอะไรกว้างขึ้น และยังมองลึกกว่าคนทั่วไป ตัวเลขของคณิตศาสตร์เป็นเพียงบันใดที่จะไต่ไปสู่เป้าหมายที่กล่าวข้างต้น

           คนเข้าใจคณิตศาสตร์จะมองอะไร ๆได้กว้างกว่า คิดอะไรๆ ได้ลึกกว่าคนธรรมดาทั่วไป ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คนเรียนคณิตศาสตร์ได้ดี จึงมักเรียนวิชาอื่นได้ดีด้วย ทั้งนี้ก็เพราะคณิตศาสตร์ สอนให้รู้จักคิด รู้จักประยุกต์ความเข้าใจ จึงทำให้เรียนและเข้าใจวิชาอื่นได้ดีกว่าคนที่ไม่ชอบคณิตศาสตร์

           การที่จะทำให้เด็กเก่งคณิตศาสตร์ได้นั้น ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก พ่อแม่จึงต้องเป็นครูคณิตศาสตร์ คนแรกของลูก พูดอย่างนี้หลายคนตกใจว่าเราเองก็แย่เอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว จะไปสอนคณิตศาสตร์ ให้ลูกได้อย่างไร

           ความจริงไม่ใช่เรื่องยาก ท่านสามารถสอนลูกปลูกฝังลูกได้โดยลูกไม่รู้ตัว อย่างเช่น เวลาขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็ให้อ่านตัวเลขทะเบียนรถ ถ้าโตขึ้นมาหน่อย ก็ลองให้ลูกบวกลบตัวเลขทะเบียนรถ ถ้าลูกโตขึ้นมาอีก ก็อาจกำหนดคำตอบแล้วให้ลูก ใช้ตัวเลขทะเบียนรถมาบวกลบคูณหารให้ได้ตรงคำตอบหรือใกล้เคียงที่สุด หน้าปัดความเร็วรถ คุณก็สามารถสอนเรื่องความเร็ว สอนเรื่องหน่วย ไมล์ กิโลเมตร นาฬิกาบนหน้าปัดรถ คุณก็สามารถสอนเรื่องเวลา นาที วินาที ชั่วโมง สอนเรื่องการอ่านเวลา สอนเรื่องการตรงต่อเวลา สอนเรื่องวงกลม สอนเรื่องการเคลื่อนที่ของเข็มยาว เข็มสั้น

             เมื่อพาลูกไปซุปเปอร์มาร์เก็ต ถ้าเป็นเด็กเล็กคุณก็สามารถสอนเรื่องรูปทรงต่างๆ รูปทรงกลม ทรงเหลี่ยม จากป้ายราคา คุณก็ยังสามารถสอนเรื่อง บาท สตางค์ สอนเรื่องโหล กุรุส ราคาต่อหน่วย ของชนิดเดียวกันต่างยี่ห้อเปรียบเทียบว่าอันไหนถูกกว่าอันไหนแพงกว่า ถ้าเด็กโตขึ้นมาหน่อย ก็อาจให้ลองบวกเลขรวมจำนวนเงินที่ต้องจ่าย ถ้าให้ธนบัตรเท่านี้ จะได้รับเงินทอนเท่าไหร่ หยิบน้ำปลามาหนึ่งขวดคุณจะสอนอะไรให้กับลูกได้บ้าง เริ่มจากรูปทรงของขวด ถ้าเด็กโตขึ้นมาหน่อย ก็สอนเรื่องปริมาตร ลิตร ซีซี ถ้าเด็กโตขึ้นมาอีกหน่อย เปอร์เซ็นต์ส่วนประกอบของน้ำปลา ราคาที่ประหยัดกว่าเมื่อซื้อขวดใหญ่ เมื่อเทียบกับซื้อขวดเล็ก คุณพ่อคุณแม่สามารถทำให้ การไปซุปเปอร์มาร์เก็ตเกิดความสนุกสนาน และเกิดการเรียนรู้ไปด้วย

          สิ่งรอบตัวคุณสามารถนำมาประยุกต์สอนเด็กได้ เป็นการปลูกฝังให้เด็ก รักคณิตศาสตร์โดยไม่รู้ตัว และไม่ต้องกลัวว่าคุณจะสอนไม่ได้ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นๆ สำหรับผู้ใหญ่ทั่วไปที่ต้องรู้อยู่แล้ว อยู่ที่ตัวท่านจะเอาใจใส่แค่ไหนมากกว่าเมื่อเด็กรักคณิตศาสตร์ ชอบคณิตศาสตร์ เมื่อโตขึ้นเด็กก็จะขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมเอง คณิตศาสตร์ก็จะไม่เป็นยาขม ของเด็กอีกต่อไป

แหล่งอ้างอิง : นายแพทย์รุ่งโรจน์ ตรีนิติ http://www.clinicrak.com

วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

ครูผู้สร้างศาสตร์ด้วยศิลป์

“สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตโต โสปัณฑิโต ภะเว ผู้พ้นจากการฟัง คิด ถาม เขียน จะเป็นบัณฑิตได้อย่างไร ” นี่คือ บทบาลีบทหนึ่งในพุทธศาสนาที่ได้สอนเหล่าพุทธศาสนิกชนเอาไว้ ซึ่งครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงยกย่องผู้เป็นนักฟังที่ดีว่า เป็นพหูสูตร และทรงยกย่องพระอานนท์มาแล้ว ดังนั้น ครูผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถสร้างคนให้เป็นพหูสูตร หรือผู้คงแก่เรียนได้โดยการฝึกให้ฟังมาก จำได้คล่องปาก เจนใจ ประยุกต์ใช้ได้ ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความหมายและสนุกในการเรียนรู้ โดยอาศัยทักษะที่สำคัญคือ ศิลปะการถ่ายทอด ที่อาชีพครูพึงมีอยู่ในตัวตน

ครูที่ประสบความสำเร็จกับการถ่ายทอดจะต้องสร้างศรัทธาทำให้ผู้เรียนรักและไว้วางใจ ฉะนั้นครูจึงควรพัฒนาตนเองดังนี้

๑. บุคลิกดี ครูต้องมีมาดต้องตา วาจาต้องใจ ภายในต้องเยี่ยม เพราะหากครูมีบุคลิกภาพดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง การยืน

การเคลื่อนไหว จะต้องกลมกลืนเหมาะสม สิ่งที่เป็นเสน่ห์คือรอยยิ้มครู แสดงภาษาชื่นชมต่อผู้เรียน

๒. มีความกระตือรือร้น คล่องแคล่ว มั่นใจ

๓. สนใจร่วมมือ ครูต้องแสดงความสนใจผู้เรียน ร่วมมือให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียนรู้

๔. ใช้สื่อการสอน ครูต้องนำส่วนประกอบของร่างกายมาใช้เป็นสื่อการสอน ไม่ว่าจะเป็นตาได้เห็น ทางปากได้ซักถาม พูดคุย ทางหูได้ยิน ทางมือได้ทดลองสัมผัส จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้เร็วขึ้น

๕. ไม่อ่อนประสบการณ์ ครูต้องแนะแนวทางให้ผู้เรียนจดจำและเรียนรู้ได้เร็ว โดยดัดแปลงแต่งเติมให้เหมาะสมกับวัย และเนื้อหาของบทเรียน

๖. การงานสำเร็จดี ครูที่เด็กอยากเรียนด้วยจะต้องมีความสำเร็จในการพัฒนาผู้เรียน ยิ่งครูส่งเสริมให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ เกิดความเป็นเลิศ จะทำให้เกิดการยอมรับจากผู้ปกครองมากขึ้น คุณภาพของครูจึงเกิดจากคุณภาพผู้เรียน

๗. มีความสามารถในการถ่ายทอด สามารถเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับประสบการณ์เดิมของผู้เรียน โดยใช้รูปภาพสถานการณ์จริงให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ ประทับใจ บันเทิงใจควบคู่กันไป ซึ่งครูต้องมีเทคนิคและลีลา ภาษาและศิลปะ

ในการแสดงออก

๘. ถอดหัวใจผู้เรียน ครูต้องเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียน ต้องมีความเป็นกัลยาณมิตร ต้องรู้ว่าผู้เรียนเป็นใคร

ชอบอะไร สนใจและมีความถนัดเรื่องใด

๙. เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ครูต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียน มุ่งให้ผู้เรียนเกิดความรู้ (Knowledge)

ความเข้าใจ (Understanding) ความถนัด (Skill) ทัศนคติและจริยธรรมที่ดี (Habbit) ครูต้องมีอารมณ์ขัน และได้สาระ

๑๐. ไม่หลงตัวเอง ไม่ว่าครูจะมีระยะเวลาในกานสอนมายาวนานเพียงใด ก็ต้องเตรียมให้พร้อมตลอดเวลา ครูจึงควรพัฒนาตนเองให้เกิดพฤติกรรม ดังนี้ คือ ต้องใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจง่าย ได้เนื้อหา พาสนุกปลุกความคิด พิชิตปัญหา เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้ผู้เรียนเกิดประโยชน์ ไม่เป็นโทษเป็นภัย โดยเสนอแต่สิ่งที่ดีต่อนักเรียน

ดังนั้นครูที่ยิ่งใหญ่ คือ ผู้ดลใจให้เด็กคิด และจะต้องวางแผนเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสงสัย ใฝ่รู้ สร้างโอกาสให้เด็กได้ใช้สมองและสองมือได้ปฏิบัติเพื่อความสำเร็จ ครูควรยึดคำกล่าวที่ว่า “ถ้าฝาตุ่มยังไม่เปิด ก็อย่าเพิ่งเติมน้ำ” การมีทักษะถ่ายทอดที่ดีเยี่ยมและเข้าใจธรรมชาติผู้เรียนว่ามีลีลาการเรียนรู้อย่างไร จะส่งผลให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนบรรลุวัตถุประสงค์ สิ่งสำคัญบุคลิกภาพของครูต้องดึงดูดความสนใจ สร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความหมาย การเป็นครูเหนือครูจึงอยู่ที่กระบวนการคิดของครูที่มองเป้าหมายไปที่ผู้เรียนซึ่งเป็นผลผลิตจากการสอน สะท้อนมาเป็นผลงานของครูเอง

ดิฉันขอเป็นกำลังใจให้กับครูผู้มุ่งมั่นและตั้งใจที่จะพัฒนาตนเอง ด้วยการฝากธรรมะสั้น ๆ ของพระมหาสมปองที่ว่า “ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากสวรรค์ ไม่ได้เกิดจากโชคชะตา แต่เกิดจากการฝึกฝนอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ” สวัสดีค่ะ

สุพรรณี บัวเนียม

ครูโรงเรียนวัดอภยาราม

ที่มาข้อมูล : พรชัย ภาพันธ์ , ศิลปะการถ่ายทอดของครูมืออาชีพ www.myfirstbrain.com

ข่าวการศึกษา