วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ฝึกสมาธิก่อนเรียน ช่วยให้การเรียนดีขึ้นอย่างไร

นางสุพรรษา  ย้อยรักษ์
                                                                                                                                บุคลกรวิทยาศาสตร์โรงเรียนวัดอภยาราม

การฝึกสมาธิในวัยเด็ก เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียน การฝึกสมาธิในวัยเด็ก  ไม่ใช่การฝึกเพื่อให้ได้สมาธิในระดับลึก แต่หมายถึงการฝึกเพื่อให้ได้สมาธิในระดับต้นถึงระดับกลาง ร่วมกับการมีสติสัมปชัญญะ (ความรู้ตัว) เพื่อให้เกิดความสนใจ ความจดจ่อ และความมุ่งมั่นให้อยู่กับเรื่องๆ เดียว ตามระยะเวลาที่ต้องการ
ทุกครั้งก่อนเข้าสู่บทเรียนในการเรียนการสอน ข้าพเจ้าจะให้นักเรียนนั่งสมาธิก่อนเรียนทุกครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนมีสมาธิในการเรียน ลดความฟุ้งซ่านในความคิดออกไป ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนน่าเรียน นักเรียนเองก็จะได้เรียนรู้อย่างเข้าใจมากขึ้น
   
        วิธีการฝึกสมาธิอย่างง่ายๆ ที่ครูควรแนะนำให้นักเรียนทำ

1. จัดท่าทางให้ถูกต้อง
         การนั่งที่ถูกต้องคือ ต้องนั่งตัวตรง หัวตรง เพราะร่างกายของเราสัมพันธ์กับจิตใจ หากนั่งตัวงอ จิตใจก็จะล่องลอยไป ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว แต่ไม่ต้องนั่งเกร็งมาก ให้นั่งเหมือนเรากำลังผ่อนคลายดีที่สุด
2. เปิดตานั่งสมาธิ
          บางครั้งการนั่งสมาธิ ไม่จำเป็นต้องหลับตาเสมอไป สามารถเปิดตาไว้ แต่ปรับระดับสายตาให้มองต่ำลง โดยกำหนดจุดให้เพ่งรวบรวมสมาธิไว้ เพราะบางคนเมื่อปิดตาแล้วกลับรู้สึกฟุ้งซ่าน ในหัวสมองเต็มไปด้วยเรื่องราวต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าวิธีใดทำแล้วได้ผลมากกว่ากัน
3. กำหนดรู้ลมหายใจ
          การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เป็นการกำหนดที่ตั้งของสติ เพื่อให้จิตเราอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น ๆ แต่เราไม่จำเป็นต้องไปบังคับการหายใจ แค่ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ
4. นับลมหายใจเข้า-ออก
          การนับลมหายใจเข้าออก เป็นวิธีปฏิบัติสมาธิมาตั้งแต่โบราณ โดยเมื่อหายใจออกให้เริ่มนับหนึ่งในใจ ต่อไปก็เป็นสองสามสี่ตามลำดับ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าความคิดของเรากำลังล่องลอยออกไปที่อื่น ให้กลับมาตั้งต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง เพื่อนำจิตกลับมาที่เดิม

5. ควบคุมความคิดไม่ให้เข้ามารบกวน
          เมื่อรู้สึกว่ากำลังมีความคิดเข้ามารบกวนจิตใจ ค่อย ๆขจัดความคิดเหล่านี้ออกไป โดยหันมาสนใจกับการกำหนดลมหายใจ อย่าพยายามหยุดความคิดในทันที เพราะมันจะทำให้คุณฟุ้งซ่านและไม่สามารถกลับเข้าสู่สมาธิได้อีก
6. ความเงียบบ่อเกิดแห่งความสงบ
          การนั่งสมาธิควรจะนั่งในที่เงียบ ๆ เพื่อทำจิตให้ว่าง ไม่ใส่ใจถึงบุคคล เสียง หรือสิ่งอื่นที่อยู่โดยรอบ เพราะความเงียบจะนำมาซึ่งความสงบเยือกเย็น และความรู้สึกมั่นคง เมื่อไหร่ก็ตามที่ความเงียบภายนอกและภายในประสานกันได้ ก็จะรู้สึกได้พักกายพักใจ ผ่อนคลายจากความคิดที่รบกวนอยู่ตลอดมา


การนั่งสมาธิจึงแป็นวิธีการหนึ่งที่สำคัญที่คุณครูควรนำมาใช้ เพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียนให้เกิดความสงบในจิตใจ ลดความฟุ้งซ่านและความคิดที่หลุดลอยออกไปได้ การที่เด็กมีสมาธิจดจ่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นั้น ก็จะส่งผลให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี มีประสิทธิภาพ เป็นระบบอย่างต่อเนื่องและครบวงจร ทั้งในด้านทักษะการฟัง การคิด การพูด การเขียน การอ่าน หรือการทำกิจกรรมที่มีผลต่อการเรียนรู้นั้นๆได้ค่ะ

2 ความคิดเห็น:

  1. บทความดีมากค่ะการนั่งสมาธิเหมาะกับผู้เรียนทุกวัยเช่นปฐมวัยพี่ก็ชอบให้นั่งสมาธิก่อนการปฏิบัติกิจกรรม

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ เพราะเด็กปัจจุบันไม่ค่อยมีสมาธิ ขอนำไปใช้เลยนะคะ

    ตอบลบ

ข่าวการศึกษา