วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การทดลองทางวิทยาศาสตร์มีความสำคัญอย่างไร?

นางสุพรรษา  ย้อยรักษ์
บุคลากรวิทยาศาสตร์โรงเรียนวัดอภยาราม
การทดลองทางวิทยาศาสตร์ เป็นกิจกรรมที่ตอบสนองต่อธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก เนื่องจากมีการปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง การมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และจากการได้ใช้ประสาทสัมผัสในการเรียนรู้ เช่น การฟัง การเห็น การชิมรส การดมกลิ่น การสัมผัสจับต้องสิ่งต่างๆ
ข้าพเจ้าจึงเห็นว่ากิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นการจัดกิจกรรมที่สามารถส่งเสริมและพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ศึกษาแนวคิดของ ฌอง เพียเจท์ (Jean Piaget) ที่กล่าวว่า พัฒนาการทางสติปัญญาเป็นผลมาจากการที่เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เด็กจะเรียนรู้สิ่งที่เป็นรูปธรรมก่อนเข้าสู่การเรียนรู้ที่เป็นนามธรรม และพัฒนาการทางสติปัญญาจะเป็นไปตามลำดับขั้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของจอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ที่กล่าวว่า ประสบการณ์สำหรับเด็กเกิดขึ้นได้ต้องใช้ความคิดและการลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ การทดลอง และการค้นพบด้วยตนเอง

ในการเรียนการสอน ครูจึงควรจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น ตลอดจนการใช้คำถาม อะไร” “ทำไมและ อย่างไร สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ทักษะการแก้ปัญหาต่อไปได้ 
อย่างไรก็ตามการฝึกทักษะการคิดพ่อแม่หรือผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็ก เพราะการเรียนรู้ครั้งแรกของเด็กเกิดที่บ้าน ทุกฝ่ายจึงควรร่วมมือกันเพื่อการเรียนรู้และให้เด็กได้มีทักษะชีวิตได้ในอนาคต

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พูดเป็น - พูดดี - พูดเพราะ

......สุพรรณี  บัวเนียม

.....ครูโรงเรียนวัดอภยาราม

          “การพูดเป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตประจำวันของเรามาก ซึ่งทำให้เกิดความสุข ความสำเร็จ หรือล้มเหลวได้ง่าย ๆ  โดยเฉพาะอาชีพครูที่จะต้องพูดอยู่บ่อย ๆ ฉะนั้นเรามาดูกันเถอะว่าเราควรจะพูดอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเป็นคน  พูดเป็น  พูดดี และพูดเพราะกันค่ะ   
   
          ๑. เมื่อจะพูดกับใครต้องมีสติและรู้ว่าควรจะพูดเพราะ พูดให้ดีๆ อย่าพูด เพราะอยากพูด หรือพูดตามใจตัวเอง คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น ผลที่ได้รับอาจนำความหายนะมาสู่เรา จงพูดด้วยความรู้สึกรักเพื่อนมนุษย์ และมีสติเสมอ และพูดด้วยภาษา น้ำเสียง ความหมายอย่างที่เราอยากได้ยิน ไม่ใช่พูดแบบสะใจตัวเอง
      
          ๒. ต้องฝึกจิตใจให้มีความกรุณาเพื่อนมนุษย์เสมอ ๆ คุณจึงจะสามารถพูดกับคนอื่นได้อย่างมีสติและด้วยความรักการพูดที่ดีมากที่อยากเอ่ยถึงคือ การพูดชมเชย และการปลอบโยนปลอบใจคน
                ๓. การพูดชมเชยเพื่อให้กำลังใจคนอื่น ต้องรู้จัก จับถูกคือไม่ จับผิดผู้อื่น ถ้าใครก็ตามได้ทำสิ่งใดที่ไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรมแล้วถือว่าเขาถูกต้อง ใช้ได้แล้ว ไม่ควรไปวิจารณ์หรือว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งส่วนมากคนชอบว่าคนอื่นทำไม่ถูกต้องเป็นเพราะตัวเองไม่ชอบสิ่งนั้น จึงคิดว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง นอกจากไม่วิจารณ์คนอื่นแล้ว ควรจะพูดชมเชยคนอื่นให้เป็นด้วย  จงชมในสิ่งที่เขามีดีหรือทำดี ประพฤติดี เท่าที่มองเห็นจริง ๆ ไม่ใช่ชมเชยแบบเกินจริง หรือชมแบบเสแสร้งไม่จริงใจ  จงพูดด้วยความรู้สึกจากใจว่าเขาทำเต็มที่แล้ว ทำได้แค่ไหนแค่นั้น ก็นับว่าเป็นการทำที่ดีมาก เก่งมากแล้ว โดยไม่ต้องนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ดีกว่าหรือหรือด้อยกว่า ควรพูดชมเชยให้กำลังใจเขา...
     
          ๔. การปลอบใจคน เป็นวิธีการพูดที่เป็นเสน่ห์อย่างมาก ยามที่คนหมดกำลังใจหรือทำสิ่งใดผิดพลาดไป หรือมีความทุกข์ คุณไม่ควรซ้ำเติม หรือพูดยกย่องตัวเองแล้วกล่าวถึงความด้อยของเขาให้เสียกำลังใจ  คุณควรจะพูดถ่อมตัวเองทำนองว่า เคยทำผิดพลาดในบางเรื่องเช่นกัน และพูดยกย่องเขาว่าเขามีความดี ความเด่นอีกหลาย ๆ อย่างที่สามารถทำให้เขาประสพความสำเร็จในครั้งต่อ ๆ ไป เป็นการให้ความหวังแก่เขา  และควรเสนอตัวคุณเองเพื่อช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ ถ้าจะเลี้ยงน้ำหวานเขาสักแก้วก็ดี เขาจะไม่ลืมบรรยากาศของการพูดคุยวันนั้นเลย

          อย่าไปพูดว่า “ไม่น่าเลย...ไม่น่าเลย” หรือ ถ้าเป็นฉัน ไม่ทำอย่างนี้หรอก”  เขาจะนึกว่าเขาทำความผิด และทำให้คนอื่นผิดหวังมากขึ้น     

          เคยมีนักเรียนคนหนึ่งสอบเอ็นทรานซ์ไม่ติด ครูพูดกับนักเรียนว่า....ไม่น่าเลยที่เธอเป็นคนเก่ง ทำไมสอบไม่ติด ครูอีกคนพูดว่า...ไม่น่าเลยนะ โรงเรียนหวังจะได้ชื่อเสียงจากเธอ” (เพราะเขาเป็นเด็กเรียนเก่ง)อีกคนพูดว่า...ไม่น่าเลยนะ นักเรียนอีกคนที่เก่งสู้เขาไม่ได้ กลับสอบติด”... เด็กนักเรียนคนนั้นกลับบ้านด้วยความน้อยใจและกินยาตายในที่สุด ก็เพราะคำว่า ไม่น่าเลย ๆ ๆ ๆ นี่แหละ จงหัดปลอบโยนคนให้เป็นไม่ใช่อยากปลอบโยนแต่ไปทำให้เขาทุกข์มากขึ้นอีก

          ๕. ประโยคที่ใช้ปลอบใจตัวเองหรือคนอื่นได้ดีที่คุณควรใช้บ่อย ๆ ได้แก่                      ไม่เป็นไรหรอก                 เดี๋ยวก็ดีขึ้น                 ช่างมันเถิด                 เดี๋ยวมันก็ผ่านไป                 รับรองว่าเดี๋ยวก็ดีขึ้นแน่ ๆ                 โธ่! เรื่องเล็กน่า...                 ใคร ๆ ทำผิดกันได้ทั้งนั้น                 ฉันก็เคยทำผิดมาแล้วเหมือนกัน                           คนที่มีวุฒิภาวะ ชีวิตมีคุณภาพ จะเป็นคนพูดเป็น พูดเพราะเสมอ  และรู้ตัวว่ากำลังพูดกับใคร ที่ไหน อย่างไร รู้กาลเทศะ มีเมตตากรุณาเสมอเพราะจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักมนุษย์  ดังนั้น ในการจัดการเรียนรู้ ครูจึงควรคำนึงถึงคำพูดที่ใช้กับนักเรียน  หากนักเรียนได้ฟังคำพูดที่เป็นปิยวาจา จะทำให้รู้สึกเหมือนมีน้ำทิพย์มาชโลมใจ รู้สึกเป็นมิตร ซาบซึ้งและไว้วางใจครูมากขึ้น

......................................................................

วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คุณค่าของการอ่านบทความ แล้วย้อนมามองตนเอง

.....ครูช่อแก้ว  วงษ์ตั้นหิ้น
.......ครูโรงเรียนวัดอภยาราม

สมองของเด็กถูกธรรมชาติโปรแกรมมา เพื่อให้ได้เล่น...เด็กๆจึงสนุกกับการที่ได้เล่นและในขณะที่พวกเขาได้เล่น สมองของพวกเขาก็จะเกิดการเรียนรู้ตามไปด้วย...แต่ในการศึกษาในประเทศเรากลับเป็นการยัดเยียดความรู้ให้เด็กๆเด็กๆได้เรียนเต็มเวลา...คาบเช้าเรียนเต็ม  บ่ายเรียนเต็ม...เวลาเล่นของพวกเขาไปอยู่ไหนเมื่อสมองของพวกเขาไม่ได้รับการพักผ่อนหรือ ผ่อนคลายจากที่ควรจะเป็นไปตามธรรมชาติแล้ว...สมองจึงเกิดความรู้สึกเครียดจากการถูกยัดการเรียนรู้ ทำให้กล้ามเนื้อสมองล้า และเหนื่อยความรู้สึกต่อต้านจากการเรียนรู้จึงตามมา ชีวิตวัยเด็กจากการที่ควรได้รับแต่เรื่องสนุกสนานกลับถูกยัดเยียดวิชาการสาระมากมาย การศึกษาไทยในหลายๆชั่วโมงที่เราได้สูญเสียไปจึงไร้ประโยชน์เพราะสมองของเด็กๆไม่ได้รับ จะเป็นไปได้ไหมถ้าเราออกแบบการเรียนรู้ของเด็กๆโดยการที่ได้เรียนไปเล่นไป ให้เกิดความสนุกสนาน เกิดความสุขกับการเรียนและควรจะเป็นไปได้ไหม หากเราลดคาบวิชาการลง และให้เด็กๆได้ทำกิจกรรมที่พวกเขาชอบและถนัด (บทความจากครูนอกกรอบ เมื่อวันที่ 13 เมษายน ๒๕๕๙)
เมื่อได้อ่านบทความนี้ จึงได้เกิดแนวคิดในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ และมีคำถามกับตัวเองว่าเรากำลังเป็นครูที่เผลอสอนแบบยัดเยียดความรู้ให้กับนักเรียนบ้างแล้วหรือไม่ เมื่อคิดทบทวนดูแล้ว ก็น่าจะมีบ้าง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน เลยไปขอความร่วมมือครูท่านอื่นให้ลองถามนักเรียน เช่น “ตอนเรียนคณิตศาสตร์หนูเครียดมั้ย” “มีภาระงานหรือการบ้านเยอะมั้ย”
“คุณครูดุหรือเปล่า” “ถ้าหนูเรียนไม่เข้าใจหนูกล้าถามครูมั้ย”
คำถามเหล่านี้ จะต้องให้ครูคนอื่นถาม และต้องเป็นคนที่นักเรียนรู้สึกไว้วางใจ แล้วจะได้คำตอบที่สามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาตนเอง จากเดิมที่สั่งการบ้านครั้งละเยอะๆ สอนอย่างรีบเร่งเพื่อให้จบเนื้อหาเร็วๆ จะได้รีบติวข้อสอบ ผลคือนักเรียนรู้สึกเหนื่อยล้า ท้อแท้ เบื่อหน่าย ครูเผลอทำร้ายเด็กๆโดยไม่รู้ตัว ถึงแม้จะเป็นความหวังดี แต่ถ้าเด็กนักเรียนรู้สึกว่าเป็นภาระที่น่าเบื่อหน่าย ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นกับเด็กน้อยอย่างน่าสงสาร แค่ปรับเปลี่ยนท่าทีในการสอน เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น นักเรียนจะกล้าตอบคำถามโดยไม่กลัวว่าครูจะดุเมื่อเขาตอบผิด
ให้กำลังใจ เสริมแรงให้นักเรียนมีความมุ่งมั่น ทำกิจกรรมที่นักเรียนรู้สึกผ่อนคลาย ชวนนักเรียนพูดคุย เล่าสู่กันฟังอย่างเป็นกันเอง  ความสุขของนักเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการเรียนรู้
เมื่อนักเรียนมีความสุข ครูจะเสริมสร้างวิชาการ หรือ บ่มเพาะคุณธรรม ก็ย่อมทำได้ เพราะเมื่อใจเป็นสุข คือใจที่มีคุณภาพ ย่อมน้อมรับสิ่งดีๆได้อย่างยั่งยืน

ข่าวการศึกษา