วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การเรียนรู้ที่ใช้สมองเป็นพื้นฐาน (Brain-Based Learning : BBL)


กรุณา   หมวดมณี

ครูโรงเรียนวัดอภยาราม


การเรียนรู้ที่ใช้สมองเป็นพื้นฐาน หรือ BBL (Brain-Based Learning) คือการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของสมองแต่ละช่วงวัย เป็นการนำองค์ความรู้เรื่องสมองมาใช้เป็นฐานในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ของมนุษย์

เส้นทางสู่ความสำเร็จในกระบวนการพลิกโฉมโรงเรียน ป. 1 อ่านออก เขียนได้ ใน 1 ปี  ตามแนวทางการพัฒนาการทางสมอง  ด้วยกุญแจ 5 ดอก คือ

          กุญแจดอกที่ 1  สนามเด็กเล่น (Playground)

          กุญแจดอกที่ 2  ห้องเรียนเปลี่ยนสมอง (Brainy Classroom)

          กุญแจดอกที่ 3  พลิกกระบวนการเรียนรู้ (Learning Process)

          กุญแจดอกที่ 4  หนังสือเรียนและใบงาน (Book and worksheet)

          กุญแจดอกที่ 5  สื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ (Innovations)

กุญแจดอกที่ 1  สนามเด็กเล่น  (Playground)

           เปลี่ยนสนามเด็กเล่น เพื่อพัฒนาสมองน้อย และไขสันหลังให้แข็งแกร่ง ถ้าเด็กได้ออกกำลังกายร่างกายจะส่งเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ช่วยเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท ช่วยเพิ่มจำนวนเส้นเลือดฝอยในสมอง กระตุ้นสมองส่วนที่บันทึกความจำ คือ ฮิปโปแคมปัส ทำให้จดจำได้ดี ช่วยลดระดับคอร์ทิโซล(Cortisol) หรือสารแห่งความเครียด ช่วยให้สมองสร้างสารเซโรโทนิน(Serotonin) ที่มีบทบาทต่อการจดจำทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

1.1 จัดทำสนามที่มีฐานหลากหลาย ให้เด็กได้วิ่ง ปีน โหน ลอด กระโดด ฯลฯ ที่ต้องใช้ร่างกายเคลื่อนไหวทุกส่วนและมีวัสดุกันกระแทก

1.2 จัดเวลาให้เด็กได้เล่นสนาม/เคลื่อนไหว 20 นาทีต่อวัน

1.3 มีคุณครูคอยดูแลความปลอดภัย

1.4 ตรวจเช็คความปลอดภัยของสนามอย่างสม่ำเสมอ

กุญแจดอกที่ 2  ห้องเรียนเปลี่ยนสมอง (Brainy Classroom)

            ปลี่ยนห้องเรียน เพื่อเปลี่ยนสมองของเด็ก สิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ มีความเข้มข้น มีสีสัน จะช่วยกระตุ้นให้เด็กสามารถเรียนรู้และจดจำเนื้อหาที่เรียนได้ดีขึ้น

            2.1 เตรียมปรับเปลี่ยนห้องเรียนใหม่ โรงเรียนควรจัดให้มีวันทำความสะอาดครั้งใหญ่ “Big Cleaning Day” ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำความสะอาด

            2.2 ปรับสีผนังห้องเรียน สีสันกระตุ้นสมองทา

2.3 ปรับปรุงโต๊ะเรียนและเก้าอี้  ใช้สีโทนอ่อน กระตุ้นให้สมองเปิด พร้อมเรียนรู้

2.4 จัดให้มีมุมอ่าน(reading corner) ในห้องเรียน เพื่อสาร้างนิสัยรักการอ่าน

2.5 จัดให้มีบอร์ดความรู้ มีป้ายนิเทศ และพื้นที่แสดงผลงานของนักเรียน

            2.6 จัดแสดงผลงานนักเรียนเป็นประจำ เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียน

กุญแจดอกที่ 3 พลิกกระบวนการเรียนรู้ (Learning Process)

           ออกแบบกระบวนการเรียนรู้  โดยเข้าใจสมองของนักเรียน จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่กระตุ้นสมองน้อย สมองสองซีก และสมองทั้งสี่ส่วน เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพสูงสุด

3.1 ขั้นอุ่นเครื่อง(warm up) กระตุ้นสมองน้อย โดยใช้กระบวนการขยับกายขยายสมอง (brain-gym) ยืดเส้นยืดสาย (stretching)  กิจกรรมเคลื่อนไหว (movement)  โดยใช้บทเพลงและเกม

            3.2 ขั้นนำเสนอความรู้ (Present) นำเสนอความรู้ใหม่ผ่านสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ  เริ่มสอนจากของจริงใกล้ตัว ใช้บัตรภาพ บัตรคำ แถบประโยค เพื่อเสนอความรู้ หรือประเด็นต่างๆ ใช้กราฟ ชาร์ท ตาราง concept web แบบต่าง ๆ และควรใส่รหัสช่วยจำ (memory encoding) นำเสนอเนื้อหาและข้อมูลด้วยเทคนิคแปลกใหม่  ทำให้สมองติดตามการสอนตลอดเวลา แสดงภาพเคลื่อนไหวและเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต  เพื่อเชื่อมกระบวนการเรียนรู้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ในเนื้อหาที่จำเป็น

             3.3 ขั้นลงมือเรียนรู้ (Learn - Practice) ให้นักเรียนได้ลงมือทดลองใช้ความรู้ด้วยกิจกรรมต่างๆ นักเรียนได้ลงมือทำทุกคน ฝึกทำซ้ำๆ จนเข้าใจและมองเห็น pattern ขององค์ความรู้ชุดนั้น

            3.4 ขั้นสรุปความรู้ (Summary) การนำประสบการณ์ทั้งหมดมาสรุปยอด โดยใช้กระดานเคลื่อนที่ แสดงหัวข้อหรือประเด็นให้ชัดเจน แยกหมวดหมู่ข้อมูลให้ชัดเจน สรุปความรู้เป็นนามธรรม สรุปโดยใช้ graphic organizers เข้าช่วยกระตุ้นให้เกิดทักษะการคิด

กุญแจดอกที่ 4  หนังสือเรียนและใบงาน (Book and worksheet)

ใช้หนังสือเรียนและใบงาน ที่ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับการทำงานของสมอง เพื่อช่วยกระตุ้นสมองของนักเรียน ฝึกให้เด็กคิดทีละขั้นตอน และนำทักษะและความรู้ในแต่ละขั้น มาประกอบกันเป็นความเข้าใจ (concept) ในที่สุด

            4.1 จัดหาหนังสือเรียน และหนังสืออ่านที่ส่งเสริมทักษะการคิด สอดคล้องกับหลักสูตรเหมาะกับวัย น่าสนใจ น่าตื่นใจ น่าอ่าน มีภาพประกอบมากพอที่จะสร้างความเข้าใจให้แก่เด็ก และกระตุ้นผู้เรียนให้สนใจ อยากรู้ หนังสือเรียนมีการนำเสนอความรู้โดยใช้ตาราง แผนผัง แผนภาพ concept web ไดอาแกรม ฯลฯ ให้นักเรียนฝึกฝน เชื่อมโยงความรู้สู่การมีทักษะการคิดระดับสูง

            4.2 จัดทำใบงานตามหลักการBBL มีการออกแบบจากง่ายไปหายาก มีการออกแบบให้มีแบบฝึกแยกประเภท และมีการจัดระบบการเรียนรู้เป็นขั้นตอน  ทำให้เกิดการเรียนรู้ง่าย น่าสนใจ

กุญแจดอกที่ 5 สื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ (Innovations)

           ใช้สื่อและนวัตกรรมที่แปลกใหม่ น่าตื่นเต้น และมีสีสัน และมีจำนวนเพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคน เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยในการเรียนรู้ และกระตุ้นให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน พึงพอใจ เกิดความตั้งใจที่จะเรียนรู้เนื้อหาที่ซับซ้อน

            5.1 เลือกใช้สื่อของจริงสามมิติต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับประเด็นที่ต้องการสอน ครอบคลุม ตอบโจทย์ที่ต้องการครบถ้วน

            5.2 สถานที่และบริบทเหตุการณ์จริง เรื่องราวเป็นจำนวนมากที่นักเรียนจะต้องเรียน จำเป็นต้องเรียนจากเหตุการณ์จริง สถานที่จริง จึงจะเกิดผลดีต่อการเรียนรู้ เช่น เรียนรู้ในพื้นที่จริง ลงมือปฏิบัติจริง ทัศนศึกษา จำลองสถานการณ์

            5.3 กระดานเคลื่อนที่ ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวก ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียน คุณครูสามารถใช้กระดานเคลื่อนที่ในการนำเสนอความรู้ต่างๆ เช่น ติดบัตรคำ บัตรตัวอักษร ข้อมูลทางคณิตศาสตร์ ทำให้ข้อมูลน่าสนใจขึ้น

            5.4 บัตรคำ บัตรตัวเลข ชาร์ต เป็นสื่อการเรียนรู้ที่จำเป็นและมีค่ายิ่ง นักเรียนวัยประถมสนใจสื่อการเรียนรู้ทุกชนิดที่ครูจัดให้ เมื่อมีกระบวนการสอนพร้อมสื่อที่ดีแล้ว จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            5.5 ศูนย์สื่อและนวัตกรรม LRC เป็นที่จัดเก็บอุปกรณ์และสื่อที่พร้อมใช้ คุณครูวางแผนไว้ก่อนว่าจะใช้อุปกรณ์อะไรบ้างแล้วจัดซื้อนำมาเก็บไว้ จะแก้ปัญหาเรื่องครูไม่มีเวลาไปซื้อสื่อต่างๆ คุณครูเป็นผู้ออกแบบและผลิตสื่อการสอน เตรียมอุปกรณ์นักเรียนเป็นผู้ลงมือทำ จัดเตรียมสื่อการสอนให้ตรงกับเนื้อหาและประเด็นที่สอนรายบท ใช้แล้วนำกลับมาใช้ได้อีก

            การจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการทางสมอง (Brain-based Learning) จะมีส่วนช่วยให้นักเรียนสามารถพัฒนาความรู้ความเข้าใจตลอดจนพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียนให้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ได้รับการออกแบบเพื่อตอบสนองความแตกต่างของสมองในผู้เรียนในแต่ละวัย ซึ่งแนวปฏิบัติตามแนวคิดดังกล่าวครูผู้สอนสามารถนำไปใช้เป็นฐานคิดในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนในชั้นเรียน แต่ครูผู้สอนก็ยังคงต้องตระหนักว่าเนื่องจากเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งพัฒนาการทางสมองและบริบทของสังคมที่แวดล้อม  ดังนั้นคงไม่อาจใช้วิธีการสอนใดเพียงวิธีการเดียวได้ตลอดเวลา หากแต่ครูต้องวิเคราะห์และพิจารณาอย่างรอบคอบว่าควรจะนำหรือประยุกต์วิธีการสอนรูปแบบใดบ้าง เพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด


พรพิไล เลิศวิชา. แผนการสอนภาษาไทยประถมศึกษาตอนต้น. เชียงใหม่ : บริษัทธารปัญญา จำกัด

พรพิไล เลิศวิชา. เอกสารประกอบการบรรยาย พลิกโฉมโรงเรียนใน 1 ปี”. มปท. , 2557.

วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ทำอย่างไรให้สมองเรียนรู้ได้ดีในห้องเรียน ?


สุพรรณี  บัวเนียม
                                                                                                                                                   ครูโรงเรียนวัดอภยาราม


ในยุคที่เราให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาสมองของมนุษย์นั่นเอง สมองเป็นอวัยวะที่มหัศจรรย์ที่สุดในจักรวาล สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ และเรียนรู้ได้เต็มประสิทธิภาพดังนั้น นักวิชาการหลายท่านได้นำทฤษฎีต่างๆ มากมาย มาใช้ทดลองในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน เป้าหมายคือตัวนักเรียน  เพื่อให้นักเรียนเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพสูงสุด

Brain –Based Learning  (BBL)  ก็เป็นการจัดการเรียนการสอนแบบหนึ่งที่นักวิชาการทางการศึกษาให้ความสำคัญ และได้ทดลองใช้ในการจัดการเรียนการสอนกับนักเรียนได้ผลดีเยี่ยมมาแล้ว

            ก่อนอื่นเรามารู้จักกับคำจำกัดความของ Brain –Based Learning  (BBL) พอสังเขปก่อนนะคะ

            Brain –Based Learning  (BBL) คือการนำความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสมองไปใช้เป็นเครื่องมือในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ของมนุษย์

            ในเมื่อสมองเด็กกำลังเจริญเติบโต  ครูจะต้องคำนึงถึงว่าเด็กต้องใช้เวลาอยู่กับครูนานมากกว่าพ่อแม่ ซึ่งแสดงว่าสมองส่วนใหญ่นั้นล้วนแต่มีจากครู  ดังนั้นสิ่งที่ครูต้องคำนึงถึงก็คือ  ตัวกระตุ้น  ความพอดีในการให้ความรู้เด็ก  การทำกิจกรรม  ออกกำลังกาย  การพักผ่อน และสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะอารมณ์ของครู ที่จะมีผลต่อสมองเด็กและการเรียนรู้

            วิธีการทำให้สมองเรียนรู้ได้ดีในห้องเรียน  คือ การลดความเครียดในห้องเรียนให้มากที่สุด  ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

            1. เล่นดนตรีที่สนุกสนาน  มีความสุข

            2. การให้เด็กนั่งสมาธิก่อนเรียน  หรือเมื่อรู้สึกเครียด  / ระหว่างชั่วโมงสอน  พักสายตาสัก 5 นาที

            3. ไม่ถือโกรธเมื่อเวลาเด็กทำผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ และฟังเหตุผลเด็กก่อนจะดุด่าว่ากล่าว  ครูต้องใจดีมีเหตุผล

            4. จัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อลดความเครียด

            5. การเรียน การสอน การทำการบ้านที่สนุกสนาน มีความสุข ไร้แรงกดดัน ให้เด็กรู้ว่าครู/พ่อแม่เข้าใจความรู้สึกเด็ก

            6. มีการเคลื่อนไหว  ยืดเส้นยืดสาย อาจแสดงละครที่เกี่ยวกับเรื่องที่เรียน

            7. ให้เด็กได้แสดงออก

            8. ให้เด็กแสดงออกถึงความต้องการและความรู้สึกได้

            9. ไม่ควรเรียนวิชาที่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ที่เด็กเบื่อหน่าย หรือยากเกินไป และไม่ได้เกิดประโยชน์

            10. ดูแลตนเองไม่ให้มีอารมณ์เครียด เพื่อไม่ให้มีผลต่อเด็ก

            11. แสง  สี  เสียงดนตรี และการเคลื่อนไหว ทำให้ความจำเกิดขึ้นได้ดี

            12. ให้เด็กได้นำความรู้ที่ได้เรียนนั้นไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจริง ทดลองจริง ปฏิบัติจริง           

            จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain –Based Learning) มีหลักการที่สำคัญ  คือ

            สมองส่วนคิดแต่ละส่วนได้รับการ  “กระตุ้น” อย่างเหมาะสม  ด้วยสิ่งเร้าที่คำนึงถึงธรรมชาติของสมองทั้งสองซีก  เช่น เนื้อหาความรู้และจินตนาการ  ด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการเรียนรู้ หรือปัจจัยบวก  และด้วยช่วงเวลาที่เหมาะเจาะสมควร  สมองจะสามารถพัฒนา  IQ และ  EQ ขึ้นได้

            เพื่อนครูคะ... ลองนำความรู้ที่ดิฉันนำมาฝากไปทดลองปฏิบัติกันดูนะคะ.... เพื่อทำให้สมองของลูกศิษย์เรียนรู้ได้ดีค่ะ

(แหล่งอ้างอิง : http://web.wattana.ac.th/mainessay/0021.pdf)

ข่าวการศึกษา