วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

การเรียนรู้ทางการเมือง

รวบรวมโดย.......นายพิพัฒน์ ทองต้ง

ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนวัดอภยาราม

อ้างถึงข้อเขียนของ....เยาวภา ประคองศิลป์.

        การเรียนรู้ทางการเมือง จากวัยเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ตามช่วงอายุ ดังนี้

        วัยเด็กตอนต้น (อายุ 5-9 ปี) สังคมแรกที่เด็กสัมผัสคือ ครอบครัว เมื่อออกจากครอบครัว เด็กจะได้สัมผัสกับสังคมภายนอก เช่น โรงเรียนช่วงนี้เด็กเริ่มรู้จักสัญลักษณ์ของชาติ เช่น ธงชาติ ถือได้ว่าเป็นช่วงแรกที่เกิดความรู้สึกทางการเมืองและสามารถเรียนรู้ทางการเมืองได้รวดเร็วมากแต่ยังไม่ลึกซึ้ง กระบวนการอบรมกล่อมเกลาในระยะแรก มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป การพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยในเด็กระดับนี้ควรเน้นที่อารมณ์ ความรู้สึก เจตคติ และจิตใจมากกว่าด้านความรู้ ฉะนั้นในการเรียนทุกๆ เรื่อง ทุกๆ วิชา จะต้องมีจุดประสงค์ในการสร้างบุคลิกภาพและวัฒนธรรมประชาธิปไตย เช่น เรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิของผู้อื่นเรียนรู้ที่จะแบ่งปันผลประโยชน์กับเพื่อน เรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีม เป็นหมู่คณะ การเป็นผู้นำที่เสียสละ การเป็นผู้ตามที่เคารพในกติกา และรับนโยบายของกลุ่มไปปฏิบัติด้วยความเต็มใจ การเรียนรู้ที่จะแสดงความคิดเห็นที่มีเหตุผล การรับฟัง การวิพากษ์วิจารณ์ และรู้จักการวิพากษ์วิจารณ์ที่ดีเป็นต้น (วิชัย ตันศิริ, 2539)

        วัยเด็กตอนปลาย (อายุ 9-13 ปี) ความคิดความเข้าใจการเมืองจะก้าวไปสู่ลักษณะคล้ายผู้ใหญ่ เป็นก้าวสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ทางการเมือง โดยเฉพาะเด็กอายุ 10-11 ปี จะเริ่มเข้าใจการเมืองในลักษณะนามธรรม (abstract ideas) มีความคิดที่สัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบมากขึ้น เด็กสามารถแยกบทบาททางการเมืองของบุคคลได้และมีความรู้ข่าวสารการเมืองเพิ่มขึ้น เด็กอายุ 11-13 ปี จะเข้าใจระบบการเมืองรอบๆ ตัวไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่มากนัก (สุรวุฒิ ปัดไธสง, 2528)

        วัยรุ่น (adolescence) (อายุ 13-18 ปี) เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทั่ว ๆ ไป ด้านกายภาพ จิตภาพ และสังคม การเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ วัยรุ่นมีความต้องการอิสระจากครอบครัว สัมพันธภาพกับครอบครัวน้อยลงแต่กลับไปมีสัมพันธภาพกับกลุ่มเพื่อนมากขึ้น ความสัมพันธ์แบบนี้หาไม่ได้ในครอบครัว เพราะในครอบครัวมีความสัมพันธ์กันแบบเบื้องบนลงสู่เบื้องล่าง (top-down) แต่ในกลุ่มเพื่อนเป็นความสัมพันธ์แบบแนวราบ (horizontal) ซึ่งเป็นการลดช่องว่างในครอบครัว Joseph Adelson (อ้างถึงใน สุรวุฒิ ปัดไธสง, 2528) ได้วิจัย พบว่า วัยรุ่นอายุ 12-18 ปี มีรูปแบบการเรียนรู้ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ

        1. รูปแบบการรับรู้ เมื่อก่อนอาจเรียนรู้ทางการเมืองจากโรงเรียน ครอบครัว เมื่ออยู่ในวัยรุ่นอาจเรียนรู้การเมืองโดยการทำกิจกรรมทางการเมืองกับวัยรุ่นด้วยกัน

        2. ทัศนภาพแบบอำนาจนิยมที่มีต่อระบบการเมืองลดลง กล่าวคือ มองเห็นว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของการให้อำนาจเป็นใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว แต่เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลประนอมประโยชน์ หรือจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าในสังคมให้สมาชิกเกิดความพอใจ

        3. มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุอุดมคติทางการเมืองของตน

        วัยรุ่นเป็นวัยที่แสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ดังนั้น การเรียนรู้ในโรงเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถจัดการเรียนการสอนเรื่องการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้โดยตรง ปัจจุบันหลักสูตรวิชาสังคมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ก็เน้นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเรื่องสิทธิหน้าที่ของพลเมือง การเรียนรู้การเมืองการปกครองในโรงเรียน นอกจากจะสอนเนื้อหาโดยตรงแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ หลายอย่างที่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยให้แก่นักเรียนอีกด้วย วิชัย ตันศิริ (2539) ได้ให้แนวความคิดไว้ว่า การสอนการเมืองการปกครองในโรงเรียนนั้น นอกจากจะสอนระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยจากหลักของกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องพรรคการเมืองและการเลือกตั้งแล้ว ควรจะสอนจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในการเมืองไทย ควรได้มีการศึกษาวิเคราะห์ระบบการเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมือง โดยเปรียบเทียบไทยกับต่างประเทศ ระบบกลุ่มผลประโยชน์ การดำเนินงานของรัฐสภาและพฤติกรรมของนักการเมือง ตลอดจนบทบาทของประชาชน นักวิชาการ สื่อมวลชน ต่อการพัฒนาการเมือง เป็นต้น การเรียนการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 ในด้านการศึกษาทางสังคมศาสตร์ ควรเน้นไปที่การพัฒนาความคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนมีวิสัยทัศน์กว้าง มีความรู้ ความคิดลึก สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้ การสอนจะเน้นในเชิงปรัชญาการเมืองและสังคม ดังนั้นผู้เรียนจะต้องมีความสามารถในเชิงวิเคราะห์ การเรียนการสอนต้องฝึกให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ เช่น ความเสมอภาค เสรีภาพ ความยุติธรรม ฯลฯ เพื่อให้เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์แบบนักปรัชญา

        วัยผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) เป็นวัยที่มีพฤติกรรมทางการเมืองจากพื้นฐานที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยเด็ก การอบรมกล่อมเกลาทางการเมืองให้เด็กตั้งแต่ต้น เป็นการกำหนดพฤติกรรมทางการเมืองในวัยผู้ใหญ่ต่อมา มีหลักฐานการวิจัยยืนยันว่า การเรียนรู้ทางการเมืองที่เด็กเรียนรู้ระหว่างอยู่ในช่วงของการเรียนตอนต้น ๆ มักจะมีผลต่อพฤติกรรมทางด้านการเมือง ตอนเป็นผู้ใหญ่มากกว่าแนวความคิดและทัศนะที่บุคคลเรียนรู้ในช่วงหลังของชีวิต (สถิต นิยมญาติ, 2524)

        จากข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้เขียนนำมาเสนอไว้ในบทความนี้เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น ที่ครูผู้สอนในโรงเรียนควรให้ความสนใจ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการถ่ายทอดการเรียนรู้ทางการเมืองการปกครองไปสู่เยาวชนของชาติ สมดังความคาดหวังของสังคมที่เชื่อมั่นว่าสถาบันการศึกษาเป็นสถาบันที่มีบทบาทอย่างสูงยิ่งต่อการพัฒนาทางการเมืองการปกครองของประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แม้ว่าเป้าหมายนี้ไม่อาจสำเร็จได้เพียงชั่วเวลาข้ามคืน แต่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความเข้าใจ ความพยายาม ความอดทน และเวลาที่ต่อเนื่องเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพราะกระบวนการศึกษาในระบบสามารถเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งสามารถกระทำได้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาต่อเนื่องไปสู่ระดับมัธยมศึกษา ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา โดยการจัดเนื้อหาสาระให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนในระดับต่าง ๆ และเน้นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่เป็นรูปธรรมตามอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่พึงประสงค์ ขณะเดียวกันก็ฝึกปฏิบัติในกิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อหล่อหลอมให้นักเรียนนักศึกษาได้ซึมซับคุณค่าของประชาธิปไตย จนก่อให้เกิดวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยได้ในที่สุด

..............................................

ข่าวการศึกษา