วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21


                                                                                        โดย  นางวรรณี  เพ็งประไพ

                                                                                                นางกรุณา   หมวดมณี

           


สืบเนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป  ส่งผลให้การดำเนินชีวิต  และลักษณะนิสัยของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปเช่นกัน  อาทิเช่น  เป็นผู้ที่เติบโตภายใต้สภาวะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ภายใต้เครือข่ายการสื่อสารดิจิตอล  ชอบสื่อสารผ่านสื่อที่หลากหลาย  ทันสมัย  ชอบเรียนรู้ทันทีที่สงสัยหรือไม่เข้าใจ  ไม่จำกัดเวลาและสถานที่  ทนไม่ได้กับการรอคอย  ไม่ทันใจ  ชอบเรียนรู้เฉพาะที่ตนสนใจ  เป็นต้น  ผลที่เกิดขึ้นคือ  การจัดการศึกษาจะดำเนินการอย่างไรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทั้งของผู้คนและสภาพสังคม  การศึกษาที่มีคุณภาพของศตวรรษที่  21  จึงต้องเป็นการเรียนมากกว่าการสอน  ครูเป็นผู้จุดประกายความคิด  เป็นผู้อำนวยความสะดวก  ให้คำปรึกษา  เน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้า  สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง  เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทั้งต่อตนเอง  ครอบครัว  ชุมชน  และสังคม  รูปแบบของโรงเรียนในศตวรรษที่  21  จึงต้องเปลี่ยนไปจากเดิมดังนี้


โรงเรียนในศตวรรษที่  20
โรงเรียนในศตวรรษที่  21
1.  โรงเรียนเป็นรูปแบบของโรงงาน
1.  โรงเรียนเป็นรูปแบของชุมชนแห่งการเรียนรู้
2.   เด็กเรียนในสิ่งที่ครูอยากให้เรียนรู้
2.  เด็กเรียนรู้วิธีการสอน
3.  การสอนเป็นการบอกเล่าของครู
3.  การสอนของครูเป็นการอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้
4.  ขอบเขตของการเรียนรู้ถูกปิดกั้น
4.  ขอบเขตของการเรียนรู้เปิดกว้าง
5.  เป็นเอกัตบุคคลนิยม
5.  เป็นหมู่พวกนิยมและชุมชน
6.  ครูเป็นผู้ป้อนปัญหาและนิยามบริบทการเรียนรู้
6.  ผู้เรียนช่วยกันป้อนปัญหาและรับผิดชอบบริบทการเรียนรู้
7.  เน้นการแก้ปัญหาแบบเอกนัย (หาคำตอบทางเดียว)
7.  การแก้ปัญหาเน้นทั้งเอกนัยและอเนกนัย
8.  สภาพการเรียนเป็นแบบการแข่งขัน  มีผู้แพ้  ผู้ชนะ
8.  สภาพแวดล้อมการเรียนรู้เป็นรูปแบบความร่วมมือ  และความช่วยเหลือกัน  ชนะหรือแพ้ด้วยกัน
9.  ผู้ปกครองอยู่นอกแวดวงความสัมพันธ์และกระบวนการเรียนรู้ในระบบของเด็ก
9.  ผู้ปกครองหรือบิดามารดา  เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ในระบบของเด็ก
10.  ความยืดหยุ่นในหลักสูตรมีน้อยเน้นตามหลักสูตรแกนกลางที่จัดให้
10.  สามารถปรับหลักสูตรแกนกลางให้เข้ากับสภาพท้องถิ่นมากขึ้น


 ที่มา  เอกสารการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ  คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การพัฒนาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในสถานศึกษาให้ได้ผลดี


โดย... ครูพิพัฒน์  ทองต้ง  ครูชำนาญการพิเศษ

 


            การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนให้ประสบผลสำเร็จ  ครูผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษา  ต้องให้ความสำคัญ  โดยดำเนินการสรุปได้ดังนี้

1. สถานศึกษาร่วมกันวิเคราะห์หลักสูตรประวัติศาสตร์และนำไปจัดทำคำอธิบาย

รายวิชา หน่วยการเรียน เขียนแผนการสอน และเตรียมการสอนแต่ละครั้ง

2. จัดทำ/พัฒนาหลักสูตรประวัติศาสตร์ที่สอดคล้องกับท้องถิ่น

3. ผู้บริหารสถานศึกษาบริหารจัดการและส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทย ที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้ ปรับปรุง และนิเทศภายใน ครูในสถานศึกษาให้ปรับเปลี่ยนแนวคิด เทคนิคการสอนโดยการเน้น การสร้างค่านิยม ปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อเนื้อหาสาระประวัติศาสตร์ ให้เกิดความรักภาคภูมิใจในบรรพบุรุษไทยในอดีต
            4. สถานศึกษา/ครูร่วมกันสร้างสื่อ นวัตกรรมการสอนประวัติศาสตร์ไทย/จัดหาเอกสารอ้างอิงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์
            5. ส่งเสริมการเรียนรู้จากโครงงานประวัติศาสตร์
            6. รวบรวมและจัดระบบข้อมูลแห่งการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น นำมาใช้ในการเรียนการสอน
            7. ส่งเสริมให้ผู้เรียนเขียนประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น เช่น ประวัติตนเอง/ครอบครับ/หมู่บ้าน/ตำ/ตำบล ตามที่เห็นเหมาะสม
            8. จัดกิจกรรมวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย

            9. ครูทำวิจัยในชั้นเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาการสอนประวัติศาสตร์ผู้สอน
            การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์นั้น  ผู้เรียนควรได้รับการพัฒนาจากครูผู้สอนจนเกิดเป็นนิสัยในด้าน ต่าง ๆ ดังนี้
            1. ทักษะการคิด เช่น การสรุปความคิด การแปลความ การวิเคราะห์ หลักการและนำไปใช้ตลอดจนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
            2. ทักษะการแก้ปัญหา เช่น ความสามารถในการตั้งคำถาม การตั้งสมมติฐานอย่างมีระบบ การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล การทดสอบ สมมติฐานและสรุปเป็นหลักการ
            3. ทักษะในการเรียน เช่น ความสามารถในการแสวงหาข้อมูลความรู้ โดยการอ่าน ฟัง สังเกต ความสามารถในการสื่อสารการพูด การเขียน การนำเสนอ การตีความ สร้างแผนภูมิ แผนที่ จดบันทึก การใช้เทคโนโลยีและสื่อสารสนเทศต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อการแสวงหาความรู้
            4. ทักษะกระบวนการกลุ่ม เช่น การทำงานร่วมกับเพื่อนได้ การเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี การมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายของกลุ่มตามที่ได้รับมอบหมายได้
            5. ทักษะอื่นๆที่ผู้สอนได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มีความเหมาะสมนำมาจัดกิจกรรมด้านการเรียนการสอนในแต่ละครั้ง

           
กระบวนการจัดการเรียนรู้  ผู้สอนควรมีการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อการสอนแต่ละครั้ง ดังนี้
            1. เลือกวิธีการนำเข้าสู่บทเรียน
            2. เลือกรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ว่า มุ่งไปในทิศทางใด เน้นคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม
            3. ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทำกิจกรรม ตามขั้นตอนของรูปแบบการเรียนรู้

4. เน้นกิจกรรมที่ทำงานเป็นทีมมากกว่าทำตามลำพัง
            5. กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนปฏิบัติต้องนำเทคนิคและวิธีการต่างๆ มาเป็นเครื่องมือให้ผู้เรียนบรรลุตามผลการเรียนรู้
            6. กิจกรรมที่ปฎิบัติ ควรสอดคล้องกับชีวิตประจำวันและชีวิตจริง
            7. กิจกรรมที่ผู้เรียนปฎิบัติมีทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน
            8. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนฝึกฝนและถ่ายทอดการเรียนรู้ไปสู่สถานการณ์ใหม่ ๆ พร้อมทั้งทำให้เกิดความจำระยะยาว
            9. ตรวจสอบความเข้าใจ โดยให้ผู้เรียนสรุป ทั้งส่งเสริมให้เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้และที่จะเรียนต่อไป

ข่าวการศึกษา