วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

จงภูมิใจที่ได้เป็นครู

โดย .... นางหทัยชนก ขวัญขำ

          หลายคนได้ให้คำนิยามมากมายที่เกี่ยวกับคำว่า ครู บางคนเปรียบ ครู เป็นเหมือนกับแสงเทียนที่คอยส่องแสงสว่างไปยังเส้นทางที่ดี บางคนอาจจะเปรียครูเป็นเหมือนกับเรือจ้าง ที่จะนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางข้างหน้า ด้วยความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ละคนย่อมที่จะมีความต้องการครูในรูปแบบที่แตกต่างกันไป

clip_image002

          ท่านพุทธทาสได้กล่าวถึง ความเป็นครู ไว้ว่า "ครูที่แท้จริง ทำงานเพื่อช่วยโลก เพื่อยกโลก เพื่อสร้างโลก ไม่ได้ทำเพื่อเงินเดือน” เพื่อให้ครูผู้ทำหน้าที่ครู ได้มีความภาคภูมิใจและมีกำลังใจในเส้นทางอาชีพที่ทุกคนยกย่องและฝากความหวัง

          ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้สะท้อนภาพการเป็นครูผ่านบทกลอนไว้ดังนี้

“ การเป็นครูนั้นไซร้ไม่ลำบาก แต่สอนดีนั้นยากเป็นนักหนา
เพราะต้องใช้ศิลปวิทยา อีกมีความเมตตาอยู่ในใจ “
จากบทกลอนที่ยกมา เป็นการฉายภาพของ “ครู” บุคคลที่ควรบูชา

          แต่ คำว่า “ครู” แปลตามตัวว่า หนัก หมายถึง หนักด้วยงานหนัก เพราะงานที่ครูทำอยู่นั่นเป็นงานหนักและยากยิ่ง ด้วยงานที่ครุทำอยู่นั่นซับซ้อนที่สุด นั่นก็คือ การสอนคน และงานของครูจะประสบความสำเร็จได้เมื่อสามารถทำให้บุคคลได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามที่ต้องการ แต่กว่าจะสำเร็จได้ครูต้องพัฒนาตนเองให้มีทั้งความรู้ความสามารถทางวิชาการทางภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ในขณะเดียวกันก็ต้องเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม

          “ครู” จึงเป็นบุคคลสำคัญในชีวิตของคนทุกคน เพราะทุกคนต้องมีครู คอยให้ความรู้ อบรม สั่งสอน ครูจึงเปรียบได้ว่าเป็นผู้กำหนดอนาคตของสังคม และในส่วนของสังคมเองก็ฝากอนาคตไว้กับครู อาชีพครูจึงเป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจที่สุด

          เมื่อสังคมฝากความหวังไว้กับครู ครูยิ่งต้องทำหน้าที่ของครูด้วยความศรัทธาในอาชีพครู ให้ได้เหมาะสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู ตามจรรยาบรรณ ดังนี้

จรรยาบรรณข้อที่  1 ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือส่งเสริม ให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดย เสมอหน้า

จรรยาบรรณข้อที่  2 ครูต้องอบรม สั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้แก่ศิษย์อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

จรรยาบรรณข้อที่  3 ครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ

จรรยาบรรณข้อที่ 4 ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญาจิตใจ อารมณ์ สังคมของศิษย์

จรรยาบรรณข้อที่  5 ครูต้องไม่แสวงประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและไม่ใช้ศิษย์กระทำการ ใดๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ

จรรยาบรรณข้อที่  6 ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอยู่เสมอ

จรรยาบรรณข้อที่  7 ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การวิชาชีพ

จรรยาบรรณข้อที่  8 ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์

จรรยาบรรณข้อที่ 9 ครูพึงประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาไทยและวัฒนธรรมไทย

วันที่ 16 มกราคม ตรงกับวันครู เป็นวันที่ลูกศิษย์ของครูน้อมรำลึกถึงพระคุณของครู จึงขอฝากคำกลอน กราบคุณครูมาด้วยความเคารพรักยิ่ง

“ กราบคุณครูผู้สอนสั่งทั้งอ่านเขียน

จาก...นักเรียนมาเป็นครูอยู่ตรงนี้

ก็เพราะมีคุณครูผู้แสนดี

ศิษย์คนนี้ขอย่างก้าวตามเท้าครู”

*************************

วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วิธีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ ( Best Practice )


                                                                                                         โดย...นางชมขวัญ  ขุนวิเศษ
                                                                                                                                      ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดอภยาราม

ชื่อผลงาน   การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดโดยใช้ SBITHA Model   (สบายตาโมเดล)

๑.  แนวคิด/ความเป็นมาของ Best Practice

                พระราชบัญญัติศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. ๒๕๔๒   แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒)  พ.ศ. ๒๕๔๕ และ ( ฉบับที่ ๓ ) พ.ศ.๒๕๕๓ ได้กำหนดแนวการจัดการศึกษาไว้ในหมวด ๔  โดยเน้นการจัดการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนสำคัญที่สุด  เพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งร่างกาย  จิตใจ  สติปัญญา  ความรู้และคุณธรรม  เป็นผู้มีจริยธรรมในการดำเนินชีวิต  สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข  ใฝ่รู้  มีทักษะในการแสวงหา  ความรู้ที่เพียงพอต่อการพัฒนางานอาชีพ และคุณภาพชีวิตส่วนตน    มีความเป็นประชาธิปไตย  สามารถเผชิญความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเท่ากันและชาญฉลาด


                แม้การเรียนรู้จะมีความสำคัญและมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนดังที่กล่าวมาแล้วก็ตาม  แต่สภาพปัจจุบันของโรงเรียนวัดอภยาราม  พบว่า

แนวทางการจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน


                                                              โดย  นางวรรณี  เพ็งประไพ
                                                                                                       ครูโรงเรียนวัดอภยาราม


การจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นบุคคลสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือครู  โดยเน้นให้ครูเริ่มจากการวิเคราะห์หลักสูตรสถานศึกษา  จัดทำหน่วยการเรียนรู้และเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาผู้เรียนให้มีความตระหนัก  ความรู้  ความเข้าใจ  และเจตคติที่ดี  พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับอาเซียนที่จะต้องเผชิญในอนาคต

แนวทางการจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน  มีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

ขั้นที่  1  วิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางเพื่อจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา  กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ  ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอาเซียน  โดยเฉพาะกลุ่มสาระสังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรมจะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับอาเซียนโดยตรงโดยจัดทำเป็นตาราง  มาตรฐาน  ตัวชี้วัด  สาระการเรียนรู้  สาระที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน
ขั้นที่  2  จัดทำหน่วยการเรียนรู้บูรณาการประชาคมอาเซียน  โดยทำตารางระบุชื่อหน่วย  มาตรฐานการเรียนรู้  ตัวชี้วัด  สาระสำคัญ  เวลา  และน้ำหนักคะแนน
ขั้นที่  3  จัดทำแผนผังความคิดหน่วยการเรียนรู้ 
      ขั้นตอนนี้เป็นการวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  บูรณาการกับสาระการเรียนรู้   และตัวชี้วัด  เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ร่วมกัน  ซึ่งการวางแผนการจัดกิจกรรมนี้  จะกำหนดหัวข้อเรื่องไว้ตรงกลาง  แยกเป็นหน่วยย่อย  เพื่อแสดงความสัมพันธ์ของการจัดทำหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ
ขั้นที่  4  ออกแบบการจัดการเรียนรู้  แบบย้อนกลับ  (Backword  Design)  โดยทำตาราง  4  ช่อง 
-                   ช่องแรกเป็นเป้าหมาย  ได้แก่  การกำหนดสาระสำคัญ  จากมาตรฐาน/ตัวชี้วัด 
-                   ช่องที่  2  การวัดและประเมินผล  กำหนดชิ้นงาน/ภาระงานของผู้เรียน   ตามสาระสำคัญ 
-                   ช่องที่  3  กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 
-                   ช่องที่  4  คำถามสำคัญ  เป็นคำถามท้าทายจากการนำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์ใช้
การจัดการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียนสามารถจัดทำได้หลากหลายรูปแบบตามความพร้อมของสถานศึกษา  ดังนี้
1.  จัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา   ศาสนาและวัฒนธรรมในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอาเซียนโดยตรง
2.  การจัดการเรียนรู้บูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นโดยใช้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนา และวัฒนธรรม  เป็นแกน
3.  การจัดทำรายวิชาเพิ่มเติม  โดยกำหนดผลการเรียนรู้  แล้วนำมาเขียนคำอธิบายรายวิชา  และนำไปจัดทำหน่วยการเรียนรู้แล้วเขียนแผนการจัดการเรียนรู้
4.  การจัดกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียน  เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการเติมเต็มความรู้  ความชำนาญ  และประสบการณ์ของผู้เรียนเกี่ยวกับเรื่องอาเซียน  เช่น  กิจกรรมชุมนุม  ชมรมอาเซียน  ลูกเสือ- ยุวกาชาดอาเซียน  เป็นต้น
5.  การจัดกิจกรรมเสริม  เพื่อเสริมความรู้  ความเข้าใจ  ความตระหนักเกี่ยวกับเรื่องอาเซียน  เช่น
 จัดงานสัปดาห์อาเซียน  กิจกรรมภาษาอาเซียนน่ารู้   เป็นต้น


                ที่มา  คู่มือประกอบการอบรมพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชัฏสงขลา

การพูดนั้น.....สำคัญไฉน


                                                                                                                              โดย  กรุณา  หมวดมณี
                                                                                                                              ครูโรงเรียนวัดอภยาราม

                การพูดเป็นการสื่อสารที่มีความสำคัญ  และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากที่สุด  เพราะคำพูดเป็นเครื่องสื่อความคิดที่รวดเร็ว  แพร่หลายได้ผลอย่างยิ่ง  อาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยการพูดเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความรู้และประสานสัมพันธ์กับนักเรียนในกิจกรรมการเรียนการสอน
                การพูดมีผลดีต่อตัวผู้พูด ดังนี้
                1.  การสมาคม ผู้พูดดีย่อมเป็นที่นิยมชมชอบนับตั้งแต่สังคมเล็ก ๆ จนถึงสังคมขนาดใหญ่  โดยทั่วไปการคบหาสมาคมต้องอาศัยความสามารถในการพูด ดังพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎในดุสิตสมิตตอนหนึ่งว่า

                                                การพูดนั้นไม่ยาก                ปานใด  พี่เอย
                                     ใครที่มีลิ้นอาจ                               พูดได้
                                     สำคัญแต่ในคำ                               ที่พูด  นั่นเอง
                                     อาจจะทำให้ชอบ                          และชัง
                2.  ความสำเร็จในชีวิต  มีผู้กล่าวว่า การพูดที่ดีเป็นเครื่องมือบงการที่มีค่าสูงสุด  ทั้งนี้เนื่องจากการพูดจะช่วยให้การถ่ายทอดทุกสิ่งเป็นไปตามใจนึก ทำให้ความสามารถปรากฏเป็นที่เด่นชัด  ตลอดจนกิจการงานจะลุล่วงไปตามจุดประสงค์  การทำอาชีพใด ๆ ก็ตามต้องใช้การพูด   การดำเนินงานนั้นจึงจะสำเร็จ
                การพูดมีผลดีต่อส่วนรวม ดังนี้
                1. ศาสนา  การเผยแพร่พระธรรมในทุก ๆ ศาสนาก็ด้วยจุดประสงค์ เพื่อชักจูงจิตใจให้คนอยู่ในสภาพดีงามและปฏิบัติตนเป็นคนดี ต้องอาศัยการพูดเป็นการโน้มน้าวจิตใจให้คนมีศรัทธา
                2. การเมือง  มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเมืองหรือประเทศ นโยบายการปกครองเพื่อแถลงให้ประชาชนทราบก็ต้องอาศัยการพูดเป็นสำคัญ
                3. การค้า  การโฆษณาเพื่อการค้าต้องอาศัยการพูดเพื่อชักจูงจิตใจให้มีการซื้อขายอย่างกว้างขวาง การค้าระหว่างประเทศก็ต้องการความสามารถในการพูดติดต่อ เพื่อผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
                4. การสงคราม  การทำสงครามไม่ว่าแบบใด ๆ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การโฆษณาชวนเชื่อ จุดแรกของการโจมตีฝ่ายตรงกันข้าม ก็คือการตัดการสื่อสารเพื่อมิให้มีโอกาสโฆษณาชวนเชื่อ เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม อาวุธยุทธภัณฑ์มีอานุภาพเพียงใดก็ตาม อานุภาพนั้นจะเป็นผลสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่ได้อาศัยการพูดโน้มน้าวจิตใจฝ่ายตรงข้ามประกอบ

                การเรียนการสอนปัจจุบันนี้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียน และชี้แจงเพื่อให้ผู้เรียนแสดงออกอย่างถูกวิธี  ซึ่งต้องอาศัยการพูดอย่างมีศิลปะและจิตวิทยาประกอบกับกลวิธีอื่น ๆ อีก ดังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เรื่องวิวาห์พระสมุทร เกี่ยวกับความสำคัญของการพูดสำหรับอาชีพครู ความว่า

ปากเป็นเอกเลขเป็นโทโบราณว่า                     หนังสือเป็นตรีมีปัญญาไม่เสียหลาย
                         ถึงรู้มากไม่มีปากลำบากกาย                                     มีอุบายพูดไม่เป็นเห็นป่วยการ
                                ถึงเป็นครูรู้วิชาปัญญามาก                 ไม่รู้จักใช้ปากให้จัดจ้าน
                         เหมือนเต่าฝังนั่งซื่อฮื้อรำคาญ                                 วิชาชาญมากเปล่าไม่เข้าที

......................................................

ข่าวการศึกษา