วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

จะสอนเด็กให้มีความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร

                                                                                                    โดย...นางวรรณี    เพ็งประไพ
ครูโรงเรียนวัดอภยาราม...

                ในการเรียนการสอนของครูจะประสบปัญหาในเรื่องนักเรียนคิดไม่เป็น ขาดทักษะทางการคิดโดยเฉพาะการเรียนเรื่องโจทย์ปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ  จึงได้ค้นคว้าหาวิธีที่จะทำให้นักเรียนได้มีความคิดเป็น  จึงได้พบกับเทคนิคการสอนให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์  และได้นำมาเผยแพร่เพื่อให้ผู้อื่นได้รับทราบและสามารถนำไปใช้กับลูกและนักเรียนได้  หัวใจสำคัญของการคิดสร้างสรรค์ ก็คือ การไม่จำกัดวิธีคิดในการทำ” ดังนี้

                1)   กระตุ้นเด็กเสมอว่า วิธีแก้ปัญหาโจทย์ที่ครูสอนไม่ได้เป็นวิธีเดียวที่ทำได้ เด็กสามารถคิดวิธีอื่นก็ได้ ถ้าเด็กทำวิธีอื่นมา ครูต้องตรวจสอบให้ด้วยว่าวิธีนั้นถูกต้องจริงหรือไม่
ในการสอบ ครูอาจจะอนุญาตให้เด็กคิดวิธีไหนก็ได้ หรืออาจจะจำกัดให้เด็กใช้วิธีที่เราสอนก็ได้ เพื่อตรวจสอบว่าเด็กเข้าใจเทคนิคหรือแนวคิดที่เราสอนหรือไม่ ตรงนี้ต้องชี้แจงเด็กให้ชัดเจนก่อนสอบ

               2)   เวลาสอนเด็กเราอาจสอนโดยใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง แต่เมื่อเด็กคิดวิธีใหม่ได้ถูกต้อง ให้พูดชมเสริมแรง เช่น   “เยี่ยมมากเลย”   “การทำวิธีนี้ ปกติคนอายุเท่ากับหนูจะคิดไม่ได้ ครูว่าหนูเก่งมากๆ”    และ
วิธีนี้พ่อไม่อยากเชื่อเลยว่าลูกของพ่อจะคิดได้ มันสุดยอดมากๆเป็นต้น ซึ่งคำพูดเหล่านี้จะทำให้เด็กรู้สึกดี กับวิชาคณิตศาสตร์ไปอีกนานหรือตลอดไป

              3)   เมื่อเด็กบอกคำตอบ หรือเขียนแสดงวิธีทำ ต่างจากเฉลยที่ผู้สอนมี ก็อย่ารีบตัดสินว่าเด็กทำผิด แต่อาจถามว่า ครูอยากรู้จังเลยว่าหนูคิดอย่างไร ช่วยทำให้ครูดูหน่อยได้ไหมวิธีนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงสิ่งที่เขาคิด เราอาจจะได้เจอวิธีหาคำตอบแบบใหม่ที่น่าสนใจ (เพราะโจทย์บางข้อมีคำตอบและวิธีคิดหลายแบบมาก     ในกรณีที่ชัดเจนแล้วว่าเด็กคิดคำตอบหรือแสดงวิธีทำผิด เราก็ไม่ควรพูดทำร้ายความรู้สึกเด็ก แต่ควรให้กำลังใจแทน เช่น   ลองคิดใหม่อีกสักทีไหม”    “ไม่เป็นไร คิดผิดนิดเดียวเอง
วิธีการที่หนูทำก็น่าสนใจนะ เพียงแต่มันใช้กับโจทย์ข้อนี้ไม่ได้ ลองวิธีอื่นดูนะ”   “เรื่องคิดผิดเป็นเรื่องธรรมชาติ ขนาดครูสอนคณิตครูก็ยังคิดเลขผิดได้เลย”   “จุดนี้เป็นจุดที่หนูทำยังไม่ถูก ซึ่งคนหลายคนก็มักจะทำผิด แม่เองก็เหมือนกัน ลองคิดใหม่อีกทีนะ”  สำหรับคำพูดที่ให้ความรู้สึกในทางลบไม่ควรนำมาใช้กับเด็ก อาทิ ทำผิดอีกแล้วนะ ทำไมโจทย์เลขง่ายๆ แค่นี้ หนูก็คิดไม่ได้หรอ

               4)   เอาโจทย์ที่เน้นความคิดสร้างสรรค์โดยตรงไปให้เด็กทำเสมอ ๆ ซึ่งอาจหามาจากหนังสือเกมหรือโจทย์คณิตศาสตร์ที่วางขาย หรือ โจทย์ลับสมอง”    ในกรณีที่ครูไม่สามารถหาโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่สอน ครูก็ยังให้โจทย์คณิตศาสตร์ทั่วไป โดยทำตอนต้นคาบเรียน หรือให้เด็กทำเป็นการบ้านแล้วเฉลยวิธีคิดในคาบถัดไป โดยให้เด็กที่ทำได้มาแสดงวิธีคิดให้เพื่อนดู แล้วคุณครูก็เสริมแรงโดยการพูดชื่นชมเขาต่อหน้าเพื่อนๆ

                สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว การได้แก้โจทย์คณิตศาสตร์แปลกๆ ท่านก็จะได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ไปด้วย

                                                         ที่มา    Dr.Noom MathLover         ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์ (อ.หนุ่ม)
                                                                      อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

4 ความคิดเห็น:

ข่าวการศึกษา