วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

คุณครู...ช่วยหนูด้วย !

....ครูสุพรรณี  บัวเนียม
โรงเรียนวัดอภยาราม.....

“คุณครู  ช่วยหนูด้วย  หนูกินกล้วยอยู่บนหลังคา....” ยังจำบทร้องเล่นสมัยเด็กๆ กันได้หรืไม่  ร้องเล่นทีไรสนุกทุกที  แต่สำหรับเด็กนักเรียนส่วนหนึ่งในปัจจุบันนี้ คงร้องขอความช่วยเหลือจริง ๆ  ที่เกิดจากความทุกข์ของตัวเขาเอง
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ ดิฉันได้ประสบปัญหา การเรียนการสอนกับนักเรียนสมาธิสั้นมาตลอด และนับวันจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งจากการสอบถามนักเรียนเหล่านี้ ตัวเขาเองพยายามที่จะตั้งใจเรียนเหมือนกับเพื่อนคนที่ปกติ แต่เขาก็มีความอดทนได้แค่นั้น  ดิฉันได้พยายามคิดแก้ปัญหาว่าจะช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะหลายคนนับว่าถ้าตั้งใจเรียนแบบมีสมาธิที่คงทน ก็จะมีผลการเรียนที่ดีเหมือนกัน  ดิฉันทดลองให้นักเรียนกลุ่มสมาธิสั้นมานั่งเรียนด้านหน้า ใกล้ดิฉัน เมื่อนักเรียนเริ่มอยู่ไม่นิ่งจะเรียกชื่อเพื่อเตือนสติให้ตั้งใจเรียนต่อ ทำอย่างนี้อยู่บ่อยๆ ได้ผลดี  แต่ครูจะเหนื่อย กับการต้องปรับสมาธิในการสอนเหมือนกัน ส่วนนักเรียนที่ตั้งใจเรียนก็จะเบื่อกับการเบรกในการเรียนที่ต่อเนื่อง เป็น สัจธรรมชีวิตจริง ๆ ดังที่ผู้รู้เคยกล่าวไว้ว่า “ในดีมีเสีย ในเสียมีดี  ” และจากการที่พยายามศึกษาและคิดแก้ไขปัญหาเด็กสมาธิสั้นไปตามสภาพนี่เอง ดิฉันก็ได้มีโอกาสอ่านเจอเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กสมาธิสั้นและวิธีแก้ปัญหาให้กับเด็กเหล่านี้ โดย พญ.นิดา  ลิ้มสุวรรณ  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล  น่าสนใจมากค่ะ เพราะประเด็นความรู้ตรงกับเหตุการณ์ที่ดิฉันได้กล่าวมาข้างต้นทั้งสิ้น  จึงนำมาฝากเพื่อนครูที่พบปัญหาและอยากช่วยเหลือเด็กเหล่านี้เหมือนกับดิฉันบ้าง ดังนี้
    “โรคสมาธิสั้น”  เรียกย่อ ๆ ว่า ADHD  มาจาก  Attention  Deficit  Hyperactivity  Disorder  ซึ่งในปัจจุบันเราพบว่ามีเด็กวัยเรียนทั่วโลกเป็นโรคสมาธิสั้นประมาณร้อยละ 7 หมายความว่า  ในเด็กวัยเรียน  100  คน  จะพบโรคสมาธิสั้น  7 คน ถ้าในห้องเรียนมีนักเรียนประมาณ  40-50 คน  ก็จะมีเด็กสมาธิสั้น  2-3  คน  อาการหลักของเด็กสมาธิสั้นมี 3 ด้าน คือ
1. อยู่ไม่นิ่ง  ซน  ยุกยิก  กระสับกระส่าย  มืออยู่ไม่สุข  อยู่นิ่งไม่ได้  ต้องขยับตลอด  นั่งไม่ติดที่  ชอบเดินมา  ชอบวิ่ง  ไม่เดิน  ชอบปีนป่าย  เล่นผาดโผน  เล่นแรง  เล่นได้ไม่เหนื่อย  พูดเก่ง  พูดเร็ว  พูดไม่หยุด  พูดไปเรื่อยๆ หุนหันพลันแล่น  รอคอยไม่ได้  คิดอะไรจะทำทันที  เหมือนรถมีเบรก  พูดสวน  พูดทะลุกลางปล้อง  ตอบก่อนผู้ถามจะถามจบ
2. ถ้าต้องทำอะไรที่ซ้ำๆ หรือนาน จะไม่อยากทำ  หรือไม่อดทนพอที่จะทำสิ่งนั้น  ไม่มีสมาธิ  ทำงานตกหล่น  สะเพร่า  เหม่อลอย  ขี้ลืม
3. ทำของหายบ่อยๆ ทำอะไรนานๆ ไม่ได้  เปลี่ยนกิจกรรมบ่อยๆ ทำงานไม่เสร็จ วอกแวกง่าย อะไรผ่านก็หันไปมองเหมือนไม่ได้ฟังเวลามีคนพูดด้วย
สาเหตุของโรคนี้  ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม  ถ้ามีพ่อหรือแม่ 1 คน เป็นโรคสมาธิสั้น  พบว่าลูกจะเป็นโรคนี้ร้อยละ 57 รวมทั้งปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น มารดาสูบบุหรี่  หรือใช้สารเสพติดช่วงตั้งครรภ์  น้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์  รวมทั้งได้รับพิษจากสารตะกั่ว
โรคที่มักพบร่วมกับโรคสมาธิสั้น  เช่น  โรคการเรียนรู้บกพร่อง  หรือ  Learning Disorder (LD) พบร่วมกับโรคสมาธิสั้นได้ถึงร้อยละ 30 ปัญหาพฤติกรรมดื้อต่อต้าน  ไม่ทำตามสั่ง  โรคกล้ามเนื้อกระตุก (Tics) โรควิตกกังวล  ในเด็กที่มีโรค LD ร่วมด้วยจะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้  เขียนหนังสือไม่ถูก  สับสนเวลาสะกดคำ  อ่านหนังสือไม่คล่อง  อ่านตะกุกตะกัก  หรืออ่านข้ามคำที่อ่านไม่ออกไปเลย  ไม่เข้าใจการคิดคำนวณเลข  สับสนเวลาต้องคิดคำนวณเลข
ทั้งนี้ การแก้ไขหรือรักษา  ช่วยเหลือดูแลเด็กที่เป็นสมาธิสั้น  จะต้องเกี่ยวข้องกันหลายฝ่าย  ทั้งตัวเด็กเอง  ผู้ปกครองและครูที่ดูแลเด็กที่โรงเรียน  นอกจากนั้นการรักษาจำเป็นต้องใช้หลายวิธีผสมผสานกัน  ในการดูแล  เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด  นอกจากนี้แล้ว  ยังมีการรักษาด้วยยา  ยาเพิ่มสมาธิ มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง  โดยเฉพาะยาในกลุ่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท  เช่น  Methylphenidate  จะสามารถลดอาการทั้ง 3 ด้านได้โดยตัวยาเข้าไปกระตุ้นให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทเพิ่มมากขึ้น  และการรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม  ทั้งผู้ปกครอง  และครูสามารถใช้การปรับพฤติกรรมช่วยเด็กได้  อาทิ  จัดสถานที่ให้เหมาะสมก่อนเริ่มกิจกรรม  อย่างการเรียนในห้องเรียน  เราไม่ควรให้เด็กนั่งใกล้หน้าต่าง  ประตู  หรือเพื่อนที่มักจะชวนคุย  เพราะจะทำให้วอกแวกได้ง่าย  ถ้าเป็นไปได้ควรให้นั่งแถวหน้าใกล้กระดาน  หรือใกล้ๆ ครูผู้สอน
ขณะที่อยู่บ้าน  เราก็ควรปิดโทรทัศน์หรืออินเทอร์เน็ตเพื่อให้เด็กได้ใช้เวลาทำการบ้านอย่างมีสมาธิ  และควรจัดโต๊ะที่ทำการบ้านให้อยู่ในห้องที่สงบหรือหันหน้าเข้ากำแพง  การตั้งกฎกติกาและสื่อสารกับเด็กให้ชัดเจน  เช่น  ทำการบ้านให้เสร็จก่อน  จึงจะสามารถไปเล่นได้  ถ้าทำการบ้านเลขเสร็จ  10 ข้อ  แล้วจะได้พักดูการ์ตูน  1 ตอน  เป็นต้น  ด้านกิจกรรม  ควรแบ่งขั้นตอนในการทำให้งานแต่ละอย่างออกเป็นขั้นย่อยๆ แล้วให้เด็กค่อยๆ ทำไปทีละขั้น  เช่น  เด็กปกติสามารถทำการบ้าน  20  ข้อ  เสร็จได้รวดเดียว  แต่เด็กสมาธิอาจต้องแบ่งเป็นทำครั้งละ  10  ข้อ แล้วไปพักเปลี่ยนอิริยาบถก่อน  จึงกลับมาทำต่ออีก  10  ข้อ  เป็นต้น  การให้สัญญาณเตือนเมื่อเด็กวอกแวกหรือเสียสมาธิ  อาจต้องช่วยด้วยการส่งสัญญาณเตือน  เช่น  การเรียกชื่อ  หรือเรียกให้เด็กเปลี่ยนกิจกรรม  ในห้องเรียนอาจให้ออกมาช่วยครูลบกระดาน  หรือแจกสมุด  แล้วจึงให้กลับไปทำกิจกรรมเดิมต่อ  ข้อควรระวัง คือ จะต้องไม่แสดงท่าทีไม่พอใจ  หรือรำคาญในการเตือนหลังการทำกิจกรรม
สำหรับการให้รางวัลหรือการชมเชย  เมื่อทำงานสำเร็จควรให้การชมเชย  เพื่อเป็นแรงเสริมทำให้เด็กอยากประสบความสำเร็จในการทำสิ่งนั้นอีก  หรืออาจให้รางวัลเป็นสัญลักษณ์ของการชื่นชม  เช่น  ให้สติกเกอร์ติดสมุดเมื่อทำการบ้านเสร็จ  การให้การชมเชยถือเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
หวังว่าบทความนี้ คงจะสามารถช่วยคุณครูให้นำความรู้ไปปรับใช้ในการแก้ปัญหานักเรียนสมาธิสั้นได้ตามบริบทของตนเอง   เพื่อเด็กๆ เหล่านี้ซึ่งรอคอยความหวังจากคุณครูอย่างพวกเรา ที่ไม่เคยทอดทิ้งพวกเขา...เด็กสมาธิสั้น...และดิฉันเชื่อว่า หัวใจอันบริสุทธิ์ของพวกเขา อยากจะร้องขอกับครูของพวกเขาว่า  “คุณครู....ช่วยหนูด้วย!”
แหล่งข้อมูล :  MyFirstBrain.Com

6 ความคิดเห็น:

ข่าวการศึกษา