วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ใส่ใจ...เข้าใจ...จับใจความ

...นางกรุณา  หมวดมณี
ครูโรงเรียนวัดอภยาราม...

                ใกล้สอบ...ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ  (O-NET)  ปลายเดือนกุมภาพันธ์  การสอบเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  ในโรงเรียนยอดนิยมกลางเดือนมีนาคม  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  6  เนื้อหาสาระทางวิชาการและข้อมูลต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันต้องอาศัยการอ่าน  จึงจะสามารถเข้าใจและสื่อความหมายกันได้ถูกต้อง การแสวงหาความรู้นั้น  ทักษะการอ่านเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญที่สุด การอ่านเป็นการส่งเสริมให้เกิดความคิด ความฉลาด รอบรู้และประสบการณ์ตรงแก่ผู้เรียน การอ่านมีความสำคัญมากในชีวิตประจำวันของผู้ที่ใฝ่ศึกษาหาความรู้ทั้งยังช่วยให้จิตใจมีความสุขและเพลิดเพลินอีกด้วย ดังที่วรรณี โสมประยูร (2539 : 120) กล่าวว่าแม้จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดต่อสื่อสารก็ไม่สามารถทดแทนการอ่านได้ ตรงกันข้ามคนในยุคนี้กลับจะต้องอ่านเพิ่มขึ้นเสียอีก ฉะนั้นคนเราจำเป็นต้องมีทักษะในการอ่าน 

ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทักษะสำคัญในการเรียน คือ การอ่าน เพราะเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตประจำวัน  โดยเฉพาะในการศึกษาหาความรู้ การติดต่อสื่อสาร การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่  การอ่านเป็นเครื่องมือในการรับข้อมูลข่าวสาร ครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องวางแผน จัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนเป็นนักอ่านที่ดี โดยเฉพาะสำหรับสังคมไทย เมื่อออกจากโรงเรียนไปทักษะการอ่าน เป็นทักษะที่จะต้องใช้มากที่สุดในชีวิตประจำวัน เพราะการอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำไปสู่ความรู้ทั้งปวง ทำให้ได้รับรู้ข่าวสาร ช่วยเสริมสร้างความคิดและประสบการณ์ (ดุษฎี  นาหาร, 2553)

การอ่านที่ดีมีประสิทธิภาพนั้นมิใช่แต่เพียงผู้อ่านสามารถอ่านออกเสียงได้ถูกต้อง อ่าน รวดเร็ว หรือจดจำเรื่องที่อ่านได้เท่านั้นสิ่งสำคัญอยู่ที่ผู้อ่านจะต้อง ความเข้าใจ” (Comprehension) ในเรื่องราวหรือสาระสำคัญของเนื้อหาที่อ่านด้วย เมื่อผู้อ่านเกิดความเข้าใจในสิ่งที่อ่านแล้วสามารถ นำสิ่งที่ตนอ่านจนเกิดความเข้าใจไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการศึกษาเล่าเรียนได้ ความเข้าใจเนื้อหาสาระที่อ่านจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากการอ่านมิใช่เป็นเพียงการ ตีความหมายจากตัวอักษรเท่านั้น แต่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวอักษรและกระบวนการภายในสมอง ผู้อ่านต้องใช้ความคิดเพื่อสร้างความหมาย โดยนำเอาความรู้ประสบการณ์เดิมที่มีอยู่เกี่ยวกับ เรื่องที่อ่านออกมาช่วยทำความเข้าใจเรื่องราวที่อ่าน และความเข้าใจที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นจากการที่ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงพื้นฐานความรู้เดิมให้สอดคล้องกับข้อมูลที่อ่านได้ (Ediger, 2001) ซึ่งทักษะการอ่านและกลวิธีการอ่านเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการอ่านเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เนื่องจากผู้อ่านต้องใช้ความคิดแก้ปัญหาหรือให้เหตุผลโดยใช้การวิเคราะห์ จำแนก ตัดสิน ประเมิน และ สังเคราะห์สิ่งที่อ่านให้เกิดความเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์ (Hayashi, 1999)
                การสอนอ่านแบบ SQ4R เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ได้รับการ พัฒนาบนพื้นฐานแนวคิดการเรียนการสอนภาษา  จากทฤษฎีอภิปัญญา (Metacognitive theory) ซึ่ง เป็นแนวคิดหนึ่งของจิตวิทยาการเรียนรู้  อภิปัญญากับการอ่านนั้นหมายถึง วิธีการ ขั้นตอนที่จะทำให้การอ่านบรรลุตามเป้าหมาย มีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วนคือ ความตระหนักรู้ และการควบคุม กลไกที่ใช้ในกระบวนการสอนอ่าน ในขณะเดียวกันการสอนอ่านแบบ SQ4R ส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้ ทฤษฎีโครงสร้างความรู้ เพราะโครงสร้างความรู้มีหน้าที่ช่วยให้ผู้อ่านค้นหา เลือกข้อมูลที่ต้องการ หาคำตอบ และยังช่วยตีความเรื่องราวที่อ่าน หากมีข้อมูลบางส่วนหายไปการใช้โครงสร้างความรู้จะช่วยทบทวนข้อมูลจากความทรงจำของตนเอง เพื่อทำให้เรื่องราวที่ขาดหายไปสมบูรณ์ (พัชชา กรีรัมย์, 2555)
                การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ SQ4R หมายถึง การออกแบบกระบวนการจัดกิจกรรม
การเรียนที่เน้นให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในการอ่าน โดยให้ผู้เรียนใช้ความสามารถในการคิดขณะอ่าน
เพื่อพัฒนาความเข้าใจในการอ่าน ซึ่งประกอบด้วย  6  ขั้นตอน ดังนี้
                1) ขั้นสำรวจ (Survey) ผู้สอนให้นักเรียนสำรวจเรื่องราวที่ได้อ่านอย่างคร่าว ๆ  เพื่อหาจุดสำคัญของเรื่อง การอ่านขั้นนี้ไม่ควรใช้เวลานานเกินไป
                2) ขั้นตั้งคำถาม (Question) ผู้สอนควรตั้งคำถามเกี่ยวกับบทอ่านกับนักเรียน  เพื่อฝึกการตอบคำถาม คำถามจะช่วยให้ผู้อ่านมีความอยากรู้อยากเห็น และทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้เร็ว
                3) ขั้นอ่าน (Read) การอ่านข้อความในบทหรือตอนนั้น ๆ ซ้ำอย่างละเอียดและในขณะเดียวกันก็ค้นหาคำตอบสำหรับคำถามที่ได้ตั้งไว้ ในขั้นนี้เป็นการอ่านเพื่อจับใจความสำคัญโดยแท้จริง และตอบคำถามที่ตั้งไว้
                4) ขั้นบอกคำตอบอีกครั้ง (Record) เมื่อได้คำตอบแล้วให้ผู้เรียนจดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้อ่านจากขั้นตอนที่ 3 โดยใช้ภาษาของตนเองเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นและสามารถจำคำตอบนั้นได้ โดยคำตอบนั้นต้องคงความหมายเดิมของเรื่องเอาไว้
                5) ขั้นสรุปใจความสำคัญ (Recite) ให้ผู้เรียนเขียนสรุปใจความสำคัญซึ่งประกอบด้วยใจความหลักและใจความรอง โดยพยายามใช้ภาษาของตนเอง ถ้ายังไม่แน่ใจบทใดหรือตอนใดให้กลับไปอ่านซ้ำใหม่
                6) ขั้นทบทวน (Reflect) ให้ผู้เรียนวิเคราะห์ วิจารณ์ บทอ่านที่ผู้เรียนได้อ่านแล้วแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ผู้เรียนมีความคิดเห็นสอดคล้องหรือความคิดเห็นไม่สอดคล้องเป็นการทบทวนเรื่องที่อ่านทั้งหมด ในขั้นตอนนี้เป็นการตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียนว่าจดจำหรือเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดได้มากน้อยแค่ไหน หากส่วนไหนที่ยังจดจำไม่ได้ก็กลับไปอ่านซ้ำและทบทวน  ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจแนวคิดที่ชัดเจนและมีความคงทนในการจดจำอีกด้วย

                การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ SQ4R นั้นจะช่วยสร้างนิสัยการอ่านที่ดีและมีประสิทธิภาพในการอ่านได้ดี  จะทำให้การอ่านมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนว่าต้องการอะไรหลังการอ่าน อ่านแล้วอาจจะจับจุดสำคัญหรืออ่านไปแล้วใช้จุดมุ่งหมายเหมือนกับการเหวี่ยงแห ไม่รู้ว่าจะจับอะไร ได้อะไรหรือไม่ แต่ถ้ามีการใช้คำถามจะช่วยให้ผู้เรียนได้แนวคิดจากคำถามและพยายามหาคำตอบเมื่อผู้สอนถาม ดังนั้น การใช้คำถามจึงเป็นแนวทางที่จะทำให้ผู้เรียนอ่านอยู่ในขอบเขตที่ตั้งไว้ แล้วจะทำให้เข้าใจดีขึ้นเมื่อผู้เรียนได้รับการฝึกฝนจนคล่องแคล่วและชำนาญแล้ว ผู้เรียนสามารถใช้ทักษะการอ่านกับการอ่านตำราเรียนวิชาอื่น ๆ ได้หรือการอ่านสื่อในชีวิตประจำวันได้ถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สมบูรณ์อีกรูปแบบหนึ่ง  เพื่อเตรียมตัวสอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก่อนก้าวสู่อนาคตที่วาดหวังไว้ 

3 ความคิดเห็น:

ข่าวการศึกษา