โดย .... นางหทัยชนก ขวัญขำ
หลายคนได้ให้คำนิยามมากมายที่เกี่ยวกับคำว่า ครู บางคนเปรียบ ครู เป็นเหมือนกับแสงเทียนที่คอยส่องแสงสว่างไปยังเส้นทางที่ดี บางคนอาจจะเปรียบ ครูเป็นเหมือนกับเรือจ้าง ที่จะนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางข้างหน้า ด้วยความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ละคนย่อมที่จะมีความต้องการครูในรูปแบบที่แตกต่างกันไป
ท่านพุทธทาสได้กล่าวถึง ความเป็นครู ไว้ว่า "ครูที่แท้จริง ทำงานเพื่อช่วยโลก เพื่อยกโลก เพื่อสร้างโลก ไม่ได้ทำเพื่อเงินเดือน” เพื่อให้ครูผู้ทำหน้าที่ครู ได้มีความภาคภูมิใจและมีกำลังใจในเส้นทางอาชีพที่ทุกคนยกย่องและฝากความหวัง
ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้สะท้อนภาพการเป็นครูผ่านบทกลอนไว้ดังนี้
“ การเป็นครูนั้นไซร้ไม่ลำบาก แต่สอนดีนั้นยากเป็นนักหนา
เพราะต้องใช้ศิลปวิทยา อีกมีความเมตตาอยู่ในใจ “
จากบทกลอนที่ยกมา เป็นการฉายภาพของ “ครู” บุคคลที่ควรบูชา
แต่ คำว่า “ครู” แปลตามตัวว่า หนัก หมายถึง หนักด้วยงานหนัก เพราะงานที่ครูทำอยู่นั่นเป็นงานหนักและยากยิ่ง ด้วยงานที่ครุทำอยู่นั่นซับซ้อนที่สุด นั่นก็คือ การสอนคน และงานของครูจะประสบความสำเร็จได้เมื่อสามารถทำให้บุคคลได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามที่ต้องการ แต่กว่าจะสำเร็จได้ครูต้องพัฒนาตนเองให้มีทั้งความรู้ความสามารถทางวิชาการทางภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ในขณะเดียวกันก็ต้องเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม
“ครู” จึงเป็นบุคคลสำคัญในชีวิตของคนทุกคน เพราะทุกคนต้องมีครู คอยให้ความรู้ อบรม สั่งสอน ครูจึงเปรียบได้ว่าเป็นผู้กำหนดอนาคตของสังคม และในส่วนของสังคมเองก็ฝากอนาคตไว้กับครู อาชีพครูจึงเป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจที่สุด
เมื่อสังคมฝากความหวังไว้กับครู ครูยิ่งต้องทำหน้าที่ของครูด้วยความศรัทธาในอาชีพครู ให้ได้เหมาะสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู ตามจรรยาบรรณ ดังนี้
จรรยาบรรณข้อที่ 1 ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือส่งเสริม ให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดย เสมอหน้า
จรรยาบรรณข้อที่ 2 ครูต้องอบรม สั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้แก่ศิษย์อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
จรรยาบรรณข้อที่ 3 ครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ
จรรยาบรรณข้อที่ 4 ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญาจิตใจ อารมณ์ สังคมของศิษย์
จรรยาบรรณข้อที่ 5 ครูต้องไม่แสวงประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและไม่ใช้ศิษย์กระทำการ ใดๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ
จรรยาบรรณข้อที่ 6 ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอยู่เสมอ
จรรยาบรรณข้อที่ 7 ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การวิชาชีพ
จรรยาบรรณข้อที่ 8 ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์
จรรยาบรรณข้อที่ 9 ครูพึงประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาไทยและวัฒนธรรมไทย
วันที่ 16 มกราคม ตรงกับวันครู เป็นวันที่ลูกศิษย์ของครูน้อมรำลึกถึงพระคุณของครู จึงขอฝากคำกลอน กราบคุณครูมาด้วยความเคารพรักยิ่ง
“ กราบคุณครูผู้สอนสั่งทั้งอ่านเขียน
จาก...นักเรียนมาเป็นครูอยู่ตรงนี้
ก็เพราะมีคุณครูผู้แสนดี
ศิษย์คนนี้ขอย่างก้าวตามเท้าครู”
*************************
ขอบคุณค่ะ
ตอบลบค่ะศิษย์รักครู ครูรักศิษย์ค่ะ
ตอบลบขอบคุณครับ
ตอบลบคนเป็นครูควรเป็นแบบนี้แหละค่ะ
ตอบลบ