....นางชมขวัญ ขุนวิเศษ…
...ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดอภยาราม....
ปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ไม่ใช่การมีอาคารที่สวยงาม การมีงบประมาณที่เพียงพอ หรือสื่อที่หลากหลาย
แต่ปัจจัยสำคัญที่สุด คือความสามารถของครูในการจัดการเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้จะประสบความสำเร็จได้
ผู้เรียนจะต้องรัก ชอบ และสนใจในการเรียนรู้นั้น
ครูจึงจำเป็นต้องหาวิธีให้นักเรียนเกิดความรักที่จะเรียนรู้
![]() |
บางครั้งวิธีที่ครูทำเพื่อช่วยเหลือดูแลให้นักเรียนมีความสามารถในการเรียนรู้หรือแก้ปัญหา
อาจมีความผิดพลาดแล้วทำร้ายเด็กโดยไม่เจตนา ความมั่นใจ ความรักและความชอบในการเรียนรู้จึงอาจถูกทำลายไป
ซึ่งแม้ว่าเรื่องที่สอน วิธีการสอนสำหรับเด็กแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่จะเป็นพื้นฐานในการสอนและสำคัญต่อการรัก
ความชอบที่จะเรียนรู้สำหรับเด็กทุกวัย คือ
การสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน
จะเห็นว่า
เมื่อไรสัมพันธภาพระหว่างครูและผู้เรียนไม่ดี เด็กจะปฏิเสธการเรียนรู้ คือไม่ชอบ
ไม่อยากเรียน แรงจูงใจต่ำ ทำให้ครูที่ตั้งอกตั้งใจสอนโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย
รู้สึกเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เริ่มไม่มั่นใจในตนเอง เหนื่อยหน่าย ชิงชังเด็กว่าไม่รักครูได้โดยไม่รู้ตัว
จากความหวังว่าจะสนุกมีความสุขกับการสอน ต้องมาพบตัวเองอีกทีว่า
ต้องรบราเคี่ยวเข็ญกับเด็กเหมือนทำสงครามสู้รบกันตลอดเวลา
ดังนั้น จึงต้องช่วยครูหาวิธีทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยฝึกทักษะการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับนักเรียน เพื่อสร้างสะพานเชื่อมถึงกัน ซึ่งทักษะง่ายๆ
ไม่ได้ใช้ความรู้ที่ลึกซึ้งเลยก็คือ การสื่อสาร เริ่มจากการพูด เพราะ
การพูดสื่อสารอาจทำให้เกิดความเกลียดชังได้พอ ๆกับการส่งเสริมให้เกิดความสุขในการเรียนรู้ได้ดังนั้น
ครูต้องระวัง ไม่ใช้ภาษาแสดงการไม่ยอมรับ หรือใช้อำนาจข่มขู่ เพราะอาจจะเป็นการสร้างกำแพงไม่ให้นักเรียนสื่อสารกลับ
ทำให้ยากต่อความรัก ความชอบในการเรียนรู้ เช่น การวิจารณ์ติเตียนว่า “เธอมันขี้เกียจจริงๆ แย่มาก” หรือการตราหน้าว่า “ทำตัวเหมือนเด็กอนุบาลทั้งที่อยู่ ป.6 แล้ว” หรือการตักเตือนขู่ว่า
“ลืมได้ทุกวันจะให้ตกซ้ำชั้นแล้ว” เป็นต้น
การสื่อสารแบบนี้ใช้ไม่ได้ ครูจึงต้องระมัดระวังในการสื่อสารและต้องปฏิบัติต่อนักเรียนโดยเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นอกจากการพูด
ครูก็ต้องฝึกฟังด้วย เราอาจคิดว่าเราฟังเป็นฟังทุกวัน แต่ความจริงสิ่งที่ได้ฟังอาจเป็นคนละเรื่องกับที่นักเรียนพยายามสื่อสารก็ได้
ดังนั้น เมื่อให้นักเรียนพูด ครูต้องฝึกตรวจสอบ เรื่องราวที่เข้าใจจากการฟัง
ว่าตรงกับสิ่งที่เด็กต้องการสื่อสารหรือไม่
และต้องแสดงอาการรับรู้ขณะนักเรียนสื่อสาร เช่น ค่ะ ยิ้ม หรือพยักหน้า
เมื่อเด็กรู้ว่าครูเข้าใจเขา ความรู้สึกดี ๆ มีกำลังใจ มีความมั่นใจ ความรักในการเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้น
สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ อารมณ์ของครูต้องยิ้มแย้ม แจ่มใส สนุก สอดแทรกกิจกรรม เกม เพลง หรือกิจกรรมที่เด็กสนใจขณะจัดการเรียนรู้ ถ้าหากทำได้เช่นนี้ การสร้างฉันทะ หรือความพอใจรักใคร่จะเรียนรู้และพลังความคิดดีๆ ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ....